การกำหนดอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 14:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง (ก.ส.ย.) และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. อัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ สัมพันธ์กับราคายาง เป็น 5 ระดับ คือ

1.1 ราคายางไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากิโลกรัมละ 90 สตางค์

1.2 ราคายางเกินกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ไม่เกินกิโลกรัมละ 60 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากิโลกรัมละ 1.40 บาท

1.3 ราคายางเกินกิโลกรัมละ 60 บาท แต่ไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท

1.4 ราคายางเกินกิโลกรัมละ 80 บาท แต่ไม่เกินกิโลกรัมละ 100 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากิโลกรัมละ 3 บาท

1.5 ราคายางเกินกิโลกรัมละ 100 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากิโลกรัมละ 5 บาท

ทั้งนี้ ให้อิงราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 Free On Board (FOB) กรุงเทพฯ เป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินสงเคราะห์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประกาศราคายางที่ใช้เป็นเกณฑ์ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน

2. การปรับอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป โดยมีบทเฉพาะกาลให้จัดเก็บเงินสงเคราะห์ในอัตราเดิมสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำก่อนวันที่ 4 มิถุนายน 2553 และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยที่มีกำหนดส่งมอบสินค้าจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554

3. มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เริ่มดำเนินการตรวจสอบสต็อกยางตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1. สกย.เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทส่งเสริมไม่แสวงหากำไร สังกัด กษ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2503 วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการปลูกแทนยางเก่าที่ให้ผลผลิตน้อยด้วยยางพันธุ์ดีหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อนได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพการทำสวนยางซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคง โดยมุ่งในพื้นที่ที่เหมาะสมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน ใช้จ่ายจากเงินสงเคราะห์ (Cess) เงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินอุดหนุนอื่น ๆ ที่รัฐบาลจัดให้

2. เงินสงเคราะห์ (Cess) เป็นเงินที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มาตรา 5 เป็นการจัดเก็บจากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักรเข้ากองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเพื่อนำไปจัดสรรตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 18 ดังนี้

2.1 ไม่เกินร้อยละ 5 ให้กรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับกิจการยาง

2.2 ไม่เกินร้อยละ 10 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของ สกย.

2.3 ที่เหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสงเคราะห์ปลูกแทน

3. ตั้งแต่ปี 2547 — 2552 สกย.จัดเก็บเงินสงเคราะห์ได้เฉลี่ยปีละ 3,823.3 ล้านบาท จากเงินสงเคราะห์ที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีที่ผ่านมา เมื่อนำมาจัดสรรตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 18 ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารร้อยละ 10 ไม่เพียงพอ ต้องของบประมาณแผ่นดินมาสมทบ ส่วนค่าใช้จ่ายในการให้การสงเคราะห์ปลูกแทน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ตั้งแต่ปี 2551 ก็ไม่เพียงพอเช่นกัน สกย.ต้องนำเงินคงเหลือมาใช้เนื่องจากมีการปรับอัตราการให้การสงเคราะห์ 2 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ปรับจากไร่ละ 7,300 บาท เป็นไร่ละ 9,000 บาท ครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ปรับจากไร่ละ 9,000 บาท เป็นไร่ละ 11,000 บาท ซึ่งใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

4. ปัจจุบันราคายางเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับกล่าวคือ จากเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ราคายางส่งออก FOB กรุงเทพฯ ราคากิโลกรัมละ 43.32 บาท ปัจจุบันราคายางส่งออก FOB กรุงเทพฯ ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2553 ราคากิโลกรัมละ 120.10 บาท จึงเป็นโอกาสที่ควรจะทบทวนอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ให้สัมพันธ์กับราคายางเพื่อให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมีเงินพอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรชาวสวนยางนำไปเป็นทุนในการพัฒนาสวนยาง การโค่นต้นยางเก่าที่หมดสภาพ และปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี ตลอดจนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของ สกย. การปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นตามอัตราราคายางดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบยางพาราในประเทศแตกต่างจากต่างประเทศ จะทำให้เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

5. เนื่องจาก กนย.ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ให้ปรับอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ (ซึ่งผ่านการพิจารณาของ ก.ส.ย. ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 13 มกราคม 2553 แล้ว) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป และมีบทเฉพาะกาลให้จัดเก็บเงินสงเคราะห์ในอัตราเดิมสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำก่อนวันที่ 4 มิถุนายน 2553 และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยที่มีกำหนดส่งมอบสินค้าจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 โดยมอบหมายให้ สกย.เริ่มดำเนินการตรวจสอบสต๊อกยางตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 ดังนั้น ระยะเวลาที่เหมาะสมที่คณะรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาคือภายในเดือนกรกฎาคม 2553

6. สถานการณ์ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้มีความรู้ทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและมีต้นทุนการปลูกสร้างสวนยางที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจที่ สกย.ต้องเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ชาวสวนยางในการพัฒนาการทำสวนยางและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 ดังนี้

6.1 เงินสงเคราะห์จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการสงเคราะห์ปลูกแทน

6.2 เงินสงเคราะห์จำนวนไม่เกินร้อยละ 5 จัดสรรเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกิจการยาง เช่น พันธุ์ยางซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การวิจัยเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยาง เป็นต้น

6.3 เงินสงเคราะห์ไม่เกินร้อยละ 10 จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของ สกย.ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของ สกย.เพิ่มขึ้น จึงต้องของบประมาณแผ่นดินมาสมทบทำให้เป็นภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน หากปรับอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้นก็จะสามารถลดภาระงบประมาณแผ่นดินได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ