คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 กรณีผลการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลร้อยละ 100 ในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่ผลการเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีความแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 20 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
ข้อเท็จจริง
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงาน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เพื่อเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติให้คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลร้อยละ 100 ในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่ผลการเปรียบเทียบข้อมูลภาพ ถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีความแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 20 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 29 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี เลย กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และแพร่
2. คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ ตรวจติดตามในพื้นที่ 29 จังหวัด ตามข้อ 1 พบว่า เกษตรกรมีการขึ้นทะเบียน และผ่านการประชาคม แต่ข้อมูลที่แตกต่างเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
2.1 ช่วงเวลาการบันทึกภาพของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ จะถ่ายภาพในช่วงเดือนธันวาคม 2552- กุมภาพันธ์ 2553 แต่เกษตรกรบางส่วนทำการเพาะปลูกในช่วง กลางเดือนมีนาคม — ต้นเดือนเมษายน 2553 ดังนั้น ความแตกต่างกันของข้อมูลจึงเกิดจากช่วงระยะเวลาในการถ่ายภาพผ่านดาวเทียมไม่สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาการเพาะปลูกของเกษตรกร
2.2 ข้อมูลขอบเขตตำบลที่ใช้ในการประเมินหาพื้นที่ปลูกข้าว รอบที่ 2 จากการแปลภาพถ่ายจากดาวเทียม อาจมีความแตกต่างจากพื้นที่เขตตำบลของการขึ้นทะเบียนจากเกษตรกร
2.3 ลักษณะพื้นที่ของเกษตรกรบางราย มีการปลูกข้าวแปลงละประมาณ 3-10 ไร่ และมีแปลงพืชชนิดอื่น รอบพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งอาจจะไม่สามารถจำแนกข้อมูลพืชแต่ละชนิดได้ทั้งหมด ทำให้การแปลตีความภาพถ่ายดาวเทียมมีความคลาดเคลื่อนได้
3. คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อค้นพบของคณะอนุกรรมการฯ ในระดับพื้นที่ เกี่ยวกับการเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตามข้อ 2 พบว่า ข้อมูลของ สทอภ. ยังมีความคลาดเคลื่อนในหลายพื้นที่ และเนื่องจากการดำเนินงานของ สทอภ. มีระยะเวลาการดำเนินงานจำกัด และต้องเร่งแปลผลจากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อรายงานในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2553 จึงทำให้การแปลผลจากภาพถ่ายดาวเทียมไม่สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาเพาะปลูก และการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 จึงได้มอบหมายให้ สทอภ. ดำเนินการตรวจสอบการแปลข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่สอดคล้องกับการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดที่มีความแตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 20 จำนวน 29 จังหวัด ตามข้อ 1 มาวิเคราะห์ของแปลผลอีกครั้งหนึ่ง
4. สทอภ. ได้รายงานผลการตรวจสอบและแก้ไขผลการแปลตีความพื้นที่ปลูกข้าวระหว่างข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมกับผลการขึ้นทะเบียนซึ่งเป็นการแปลตีความ ครั้งที่ 2 ในการประชุมคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 และได้มีหนังสือแจ้งรายงานผลการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ว่า การตรวจสอบได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมชุดเดิมที่ใช้ในการแปลตีความ ครั้งที่ 1 และใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ซึ่งบันทึกภาพเดือนมีนาคม — พฤษภาคม 2553 มาใช้ในการตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลสรุป ดังนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพและแปลภาพถ่ายจากดาวเทียม จังหวัดที่มีพื้นที่แตกต่างกันเกินกว่าร้อยละ 20 ลดลงจาก 29 จังหวัด เหลือ 14 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุบลราชธานี และเลย (จังหวัดเลยข้อมูลการแปลภาพถ่ายดาวเทียมมีพื้นที่มากกว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกร) สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จำนวน 62 จังหวัด ในการแปลตีความ ครั้งที่ 1 มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 13,489,933 ไร่ ในการแปลตีความ ครั้งที่ 2 มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 14,556,672.21 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก ครั้งที่ 1 จำนวน 1,068,739.21 ไร่ เมื่อนำผลการแปลตีความใน ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนและผ่านประชาคมในพื้นที่ 62 จังหวัด ซึ่งมีจำนวน 16,351,790 ไร่ มีความแตกต่างกัน จำนวน 1,795,117.79 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.98
5. คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 มีมติให้คณะอนุกรรมการฯ ในระดับพื้นที่ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุบลราชธานี และเลย อีกครั้งหนึ่ง โดยดำเนินการตรวจสอบในตำบลที่มีความแตกต่างมากที่สุด จังหวัดละ 1-2 ตำบล และดำเนินการสุ่มตรวจสอบพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือ สทอภ. ส่งผู้แทนร่วมดำเนินการสุ่มสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--