รายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 15:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า

1. ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

2. พม. โดยคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำร่างรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2552 เสร็จเรียบร้อย โดยประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ส่วน ดังนี้

2.1 สถานการณ์การค้ามนุษย์ ได้แก่ 1) สถานะของประเทศไทย 2) รูปแบบของการค้ามนุษย์ และ 3) เส้นทางของการค้ามนุษย์

2.2 ผลการดำเนินงาน 7 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การป้องกัน 2) การให้ความช่วยเหลือและคุ้มครอง 3) การดำเนินการตามกฎหมายและปราบปราม 4) การส่งกลับและคืนสู่สังคม 5) การจัดทำข้อมูล การติดตาม และประเมินผล 6) การพัฒนากลไก การบริหาร และการจัดการ และ 7) การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

2.3 ข้อเสนอประกอบด้วย

2.3.1 ควรให้ความสำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงทีมสหวิชาชีพในระดับพื้นที่ ในการเฝ้าระวังกรณีการลักลอบขนคนข้ามชาติ หรือการหลบหนีเข้าเมือง เพื่อป้องกัน ไม่ให้กลุ่มคนดังกล่าวถูกแสวงประโยชน์ และอาจนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดกลไกการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานทุกระดับ

2.3.2 ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดอบรมแรงงานก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แรงงาน ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม การใช้ภาษา และสภาพการทำงานที่มีความเฉพาะ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแหล่งหรือหน่วยงานให้การช่วยเหลือ

2.3.3 ควรส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี การฟ้องร้อง รวบรวมพยานหลักฐาน ประสบการณ์การทำงาน ข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไข และให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการจัดการเกี่ยวกับคดีที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด

2.3.4 ควรมีการจัดระบบข้อมูลการค้ามนุษย์ ตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล การจับกุม การดำเนินคดี การคุ้มครองผู้เสียหายทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งการส่งผู้เสียหายกลับประเทศหรือภูมิลำเนา เพื่อประโยชน์ใน การเฝ้าระวังความรุนแรง การจัดสรรทรัพยากร การสืบเสาะหาเครือข่ายการกระทำความผิด และหลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อนของข้อมูล

2.3.5 ควรสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบกับธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ด้วยความไม่ตั้งใจ

3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในคราวประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาร่างรายงานฯ ดังกล่าว และมีมติเห็นชอบร่างรายงานสถานการณ์ฯ ดังกล่าว และเห็นชอบให้ พม. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ