คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ตามที่ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (นายคณิต ณ นคร) เสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมชี้แจงแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาให้ คอป. ทราบด้วย โดยความคืบหน้าของการดำเนินการและข้อเสนอแนะมีดังต่อไปนี้
1. ประธานกรรมการได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ที่ 1/2553 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยมีกรรมการจำนวน 8 คน ประกอบด้วย 1. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ 2. รองศาสตราจารย์จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย 3. รองศาสตราจารย์เดชา สังขวรรณ 4. นายมานิจ สุขสมจิตร 5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ 6. นายสมชาย หอมลออ 7. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ 8. รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล และ คำสั่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ที่ 2/2553 เรื่อง แต่งตั้ง เลขานุการและ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นเลขานุการ นายวิทยา สุริยะวงค์ และนายพิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
2. คอป. ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าโดยประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างกรรมการและเครือข่ายรวมหลายครั้ง และได้ดำเนินการประชุม คอป.อย่างเป็นทางการไปแล้วรวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 เพื่อกำหนดปรัชญาการทำงานและวางกรอบแผนการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ แนวทาง และอำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ที่จะต้องมีการตรวจสอบและค้นหาความจริงที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง และเหตุการณ์ความรุนแรง ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ถึงสาเหตุของปัญหาโดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน รวมทั้งมีการเยียวยาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนป้องกันมิให้เกิดเหตุความรุนแรงและความเสียหายซ้ำอีกในอนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศไทยระยะยาวต่อไป
3. จากปรัชญาในการดำเนินงานของ คอป. ดังกล่าว จะมุ่งเน้นและคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์และเป้าหมายสุดท้าย คือการส่งเสริมให้เกิดความปรองดองของประเทศไทยในอนาคต ในชั้นนี้ คอป. จึงมีข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับ “การสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่ความปรองดอง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานของ คอป. โดยในเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะในประเด็นดังต่อไปนี้
3.1 ควรสั่งการและกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายให้ใช้ “กลไกตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามปกติ” ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่า และคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน โดยสมควรให้มีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เท่าที่จำเป็นและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลและเป็นหลักประกันไม่ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการอันจะเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนเกินสมควร
3.2 ควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาโดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานโดยการลดการปฏิบัติในลักษณะที่กระทบสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในกรณีผู้ถูกกล่าวหาในคดีสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและผู้ต้องหาในคดี ทั่วไปด้วย เช่น เรื่องการใส่โซ่ตรวน
3.3 ควรสร้างความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้
3.3.1 ลดการแถลงข่าว และให้ข่าวเท่าที่จำเป็น
3.3.2 การสอบสวนต้องเริ่มด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง ในคดีอย่างมีภาวะวิสัย ไม่ใช่เริ่มที่การเรียกหรือการขอให้ศาลออกหมายจับ แล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเอาทีหลัง
3.3.3 การแจ้งข้อหาที่เหมาะสม ไม่แจ้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควร
3.4 ควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียจากเหตุการณ์การชุมนุม ทุกฝ่าย โดยรัฐบาลควรรีบประมวลความสูญเสียและการเยียวยาที่ได้ดำเนินการไปแล้วและที่จะมีการดำเนินการต่อไปเพื่อรายงานต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด
3.5 ควรเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกแจ้งข้อหาและควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อหาตามกฎหมายอื่นว่ามีจำนวนเท่าใด ขณะนี้มีสถานภาพอย่างไรให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณชน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--