รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2552 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

สรุปสาระสำคัญ

รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2552

รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2552 เป็นการนำเสนอสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 และเปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี (พ.ศ. 2547-2551)ซึ่งพบว่าสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมมีทั้งที่มีคุณภาพคงที่ ดีขึ้น และเสื่อมโทรมลง โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรดินและที่ดิน ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาทรัพยากรดินและที่ดินเสื่อมโทรมลงจากการชะล้างพังทลายของดิน ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินขาดอินทรีย์สาร พื้นที่เกษตรกรรมลดลงในทุกภาคที่สำคัญ คือ ปัญหาหน้าดินถูกชะล้างพังทลายถึง 109 ล้านไร่ (ร้อยละ 34 ของพื้นที่ทั้งประเทศ) สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการใช้ที่ดินและการจัดการดินอย่างไม่ถูกต้องและการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้ง การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยขาดมาตรการควบคุมป้องกันที่ดี ในการจัดการแก้ไขปัญหาจึงควรมีการวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสมรรถนะของทรัพยากรดิน สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อมเพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทรัพยากรน้ำ ปัญหาสำคัญ คือ การขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยพบว่าการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการประมาณการค่าความต้องการใช้น้ำ พบว่าทั้งประเทศมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 57,302.8 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี เป็นความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรถึงร้อยละ 90 หรือ 51,786.2 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จึงคาดว่าจะขาดแคลนน้ำใช้รวมทั้งประเทศ ประมาณ 4,737 ล้าน ลบ.ม ต่อปี โดยพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคกลางมีการขาดแคลนน้ำมากที่สุด ส่วนการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาล พบว่า บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน มีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จนเกินระดับความปลอดภัยทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาดังที่เกิดในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีทั้งปัญหาน้ำเค็มไหลแทรกซึมรุกล้ำเข้าไปในชั้นน้ำบาดาลและปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน เช่น จ. สมุทรสาคร ยังมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยพบว่า พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย-ดินถล่มในระดับวิกฤต ครอบคลุม 12 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำพูน สุโขทัย จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และตรัง และหมู่บ้านในลุ่มน้ำน่าน ยม และเจ้าพระยา ประสบภัยน้ำท่วมมากที่สุด ส่วนปัญหาภัยแล้งยังคงทวีความรุนแรง เพิ่มมากขึ้น พบว่ามีหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งถึง ร้อยละ 34 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ โดยกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงในสัดส่วนที่มากที่สุด

ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณนั้นได้ประสบปัญหาลดลงและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์และขาดการจัดการที่เหมาะสม ดังนี้

ทรัพยากรป่าไม้ ยังคงถูกบุกรุกทำลายและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะลดลงในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมาก็ตามแต่ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สัตว์ป่าหลายชนิดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น สมันและกูปรี และอีกหลายชนิดกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรืออยู่ในภาวะถูกคุกคาม เช่น นกกระเรียน ค้างคาวคุณกิตติ วัวแดง โดยเฉพาะช้างป่า ถูกคุกคามจนทำให้จำนวนลดลงอย่างมาก อันเนื่องจากพื้นที่ป่าไม้และทุ่งหญ้าที่เคยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าลดลง พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศประสบปัญหาถูกคุกคามไปแล้วเป็นจำนวนมากที่เหลือก็กำลังถูกทำลาย มีสภาพเสื่อมโทรมหรือถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น บริเวณบึงบอระเพ็ด บึงเสนาท ใน จ.นครสวรรค์ พื้นที่พรุแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์

สำหรับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล จากข้อมูลสำรวจสภาพป่าชายเลนล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2539 ที่มีประมาณ 1 ล้านไร่ อันเป็นผลมาจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการปลูกป่าชายเลนทดแทน ส่วนระบบนิเวศแนวปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลางถึงดีมากทั้ง ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ยังมีบางพื้นที่ที่พบความเสียหาย ได้แก่ เกาะพะยามด้านตะวันออก เกาะลูกกำออกและเกาะลูกกำใต้ จ.ระนอง เขาหน้ายักษ์ จ.พังงา เกาะกระดานและเกาะเลี้ยงเหนือ จ.ตรัง ส่วนผลผลิตประมงทะเลตามธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง แต่ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวมีส่วนทำให้ป่าชายเลนถูก บุกรุกทำลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลซึ่งจากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2550 พบว่า แนวชายฝั่งทะเลทั่วประเทศความยาวประมาณ 600 กิโลเมตร หรือร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของไทยถูกกัดเซาะทำให้ตลิ่งพังทลายและที่ดินชายฝั่งสูญหายไปประมาณ 1.1 แสนไร่ มีมูลค่าความเสียหายเฉพาะที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบนมีความวิกฤติและรุนแรงที่สุดในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี เป็นระยะทาง 12.5 กิโลเมตร สำหรับสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พยูน โลมาและวาฬ

ทรัพยากรธรณี ความต้องการใช้ทรัพยากรแร่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องมีการผลิตและการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่น ถ่านหินชนิดบิทูมินัสและแร่สังกะสี จากการพัฒนาทรัพยากรแร่ มักทำให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและวิถีชีวิตของประชาชน นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการจัดการหน้าดินในพื้นที่เหมืองที่ปิดกิจการ การปนเปื้อน และปัญหาดินเสื่อมโทรม ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่เหมาะสมและ ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขาดการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างครบถ้วน

ส่วนสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย เช่น แผ่นดินไหว ดินถล่ม หินถล่ม และหลุมยุบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระบวนการทางธรณีวิทยาและกิจกรรมของมนุษย์ ยังคงเกิดขึ้นในบางพื้นที่และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบว่าเกิดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ดังนั้น การป้องกันแก้ไขปัญหาจึงควรให้ความสนับสนุนการศึกษาวิจัยและสำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาธรณีพิบัติภัยได้อย่างเหมาะสม

ทรัพยากรพลังงาน ความต้องการใช้พลังงานสูงกว่าที่สามารถผลิตได้มาก และมีแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานยังเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี ทำให้ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ทั้งหมด รวมทั้ง มีการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานการพัฒนาด้านพลังงานและการใช้พลังงานก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยสารมลพิษทางอากาศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ในหลายกรณี อาทิ การก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน หรือแม้แต่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง ยังทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคม สาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าวมา จากการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดี ขาดการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม และขาดการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดการพลังงานด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

2. สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

มลพิษทางน้ำ คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญและแหล่งน้ำหลักของประเทศในภาพรวมของปี พ.ศ. 2551 ดีกว่าปีที่ผ่านมาและไม่พบแหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก โดยแหล่งน้ำผิวดินที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ แม่น้ำอิง แม่จาง แควใหญ่ แควน้อย เพชรบุรีตอนบน ลำตะคองตอนบน ลำปาว มูล พอง เวฬุ ตาปีตอนบน พุมดวง ตรัง และหลังสวน ส่วนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนตอนกลางและตอนล่าง ทะเลสาบสงขลา และลำตะคองตอนล่าง นอกจากนี้ คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งในช่วงปี พ.ศ. 2551 มีคุณภาพน้ำโดยรวมดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพน้ำทะเลย้อนหลัง 5 ปี สำหรับสถานการณ์คุณภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม พบว่ามีปัญหาการปนเปื้อนสารมลพิษที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น สารประกอบอินทรีย์ไตรคลอโรเอทธิลีน (Trichloroethylene) โทลูอีน (Toluene) เบนซีน (benzene) 1,2- ไดคลอโรอีเทน (1,2-dichloroethane) โลหะหนัก และ สารไนเตรต เป็นต้น

มลพิษทางอากาศ คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ เช่น จ.สระบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีปัญหาเรื่องฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เกินค่ามาตรฐาน ส่วนคุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไปทั้งประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศเกิดจากการจราจร การก่อสร้างในเขตเมือง การอุตสาหกรรม หมอกควันจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหามลพิษทางอากาศจากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายป็นสำคัญในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อให้ท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการการลดและขจัดมลพิษ

มลพิษทางเสียง ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณริมถนนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบริเวณหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงโม่และบดย่อยหินเป็นจำนวนมาก โดยมีระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินเกณฑ์มาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่ได้ทำการตรวจวัด แต่ในพื้นที่ทั่วไปของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเสียงดังจากเรือนำเที่ยวโดยเฉพาะที่คลอง อัมพวา จ. สมุทรสงคราม

ขยะ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2551 มีปริมาณขยะทั่วประเทศรวมประมาณ 15 ล้านตัน หรือประมาณวันละ 41,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 จากปีก่อน สามารถกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพียง 15,234 ตันต่อวัน (ร้อยละ 37 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ) และนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ ประมาณ 3.41 ล้านตัน หรือร้อยละ 23 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด

สารอันตราย การผลิตและนำเข้าสารอันตรายในปี พ.ศ.2551 มีปริมาณไม่เปลี่ยนแปลงมากนักรวมประมาณ 29.2 ล้านตัน จำแนกเป็นการผลิตในประเทศประมาณ 24.1 ล้านตัน และนำเข้าจากต่างประเทศ 5.1 ล้านตัน สำหรับอุบัติภัยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการเกิดอุบัติภัยในโรงงาน การรั่วไหลจากการขนส่ง การจัดเก็บที่ไม่ปลอดภัย การใช้ที่ไม่ถูกวิธี โดยพบว่าเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีรวมทั้งสิ้น 29 ครั้ง ซึ่งเกิดจากการเก็บ 14 ครั้ง การขนส่ง 6 ครั้ง และการลักลอบทิ้งสารเคมีและของเสียอันตราย 9 ครั้ง จากอุบัติภัยที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย และผู้เสียชีวิต 4 ราย

ของเสียอันตราย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยตลอดสำหรับปี พ.ศ.2551 มีปริมาณของเสียอันตรายรวมประมาณ 1.86 ล้านตัน ซึ่งเป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 78 ที่เหลือร้อยละ 22 เป็นของเสียอันตรายจากชุมชน และของเสียอันตรายมากกว่าร้อยละ 70 ยังคงเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และโรคระบาดที่เพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งพบว่า ในปี พ.ศ. 2551 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศประมาณ 194 ล้านตัน หรือร้อยละ 98 ของการปล่อยสารมลพิษทางอากาศทั้งหมด โดยมาจากภาคการผลิตไฟฟ้า คมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ

สิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน ปัญหาชุมชนแออัด การขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ปัญหามลทัศน์และภัยพิบัติจากการพัฒนาเมือง การขาดแคลนสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และปัญหาภาวะมลพิษ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเมืองและชุมชนหลายพื้นที่ เนื่องจากการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการทำให้หลายเมืองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการขาดการควบคุมบังคับใช้ผังเมือง และขาดการวางแผนระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการรองรับการขยายตัวของชุมชนจึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองและชุมชนดังกล่าว

สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แหล่งธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในหลายพื้นที่มีความเสื่อมโทรมหรือถูกทำลายลง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ หรือทำกิจกรรมต่างๆ หรือการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้โดยไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันอย่างเหมาะสม หรือกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษ เช่น หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เกิดปัญหามลพิษจากขยะ คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมลง และปะการังถูกทำลาย รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติประเภทแม่น้ำ คูคลอง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ถูกรุกล้ำและขาดการดูแลอย่างเหมาะสม

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม สภาพแวดล้อมของแหล่งศิลปกรรมในหลายพื้นที่ถูกทำลาย ถูกปล่อยให้รกร้างหรือการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างไม่เหมาะสม สาเหตุสำคัญของปัญหามาจากการพัฒนาเมือง การขยายถนน การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอาคารพาณิชย์โดยรอบโบราณสถาน โดยขาดหน่วยงานเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง ดังเช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ประสบปัญหามีความเสี่ยงต่อการถูกขึ้นทะเบียนเป็นภาวะอันตรายและอาจนำไปสู่การถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลกได้ในอนาคตหากไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

3. การดำเนินจัดการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบได้ดำเนินการในการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ และการดำเนินงานตามมาตรการและกิจกรรมโครงการต่างๆ เช่น แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2550- 2554 ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยเรื่องการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 แผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2551-2555 จัดทำแนวทางการบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศในปี พ.ศ. 2552 รวมทั้ง การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆให้รองรับกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรา 67 วรรค 2 ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน ภาคเอกชน และประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เช่น ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ มีกิจกรรมโครงการทั้งของภาคราชการและชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นที่มีการอนุรักษ์ในรูปของเครือข่ายป่าชุมชนด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การปลูกป่าชายเลนของภาคส่วนต่างๆ การสร้างปะการังเทียมทดแทนแนวปะการังธรรมชาติที่เสื่อมโทรม การอนุบาลและเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเลเพื่อชดเชยจำนวนเต่าในธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนการแก้ไขปัญหามลพิษ จะเน้นการควบคุมและลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการจัดการแก้ไขปัญหา การออกกฎหมายเพื่อการควบคุมป้องกันอันตรายจากมลพิษ การเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการมลพิษต่างๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4. ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในภาพรวมและหน่วยงานที่รับผิดชอบ

4.1 ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

(1) นโยบายหลักของประเทศควรปรับเปลี่ยนมาสู่แนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่าเทียมกับด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการจัดสรรงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหา

(2) การกำหนดนโยบาย แผนงาน หรือโครงการพัฒนาต่างๆ ควรจัดให้มีกระบวนการพิจารณาทางเลือกและประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่มโครงการเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน

(3) เสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงและมีการประเมินตรวจสอบ (EIA Audits) หลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการที่ได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

(4) ผู้บริหารประเทศต้องให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนกระบวนการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment- SEA) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในกระบวนการตัดสินใจต้องให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเท่าเทียมกับด้านเศรษฐกิจ และสังคม

(5) ควรมีการดำเนินงานการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ และระบบงบประมาณ รวมทั้ง มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่

(6) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติอันเกิดจากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ โดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นแนวร่วมในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นแนวความคิด วางแผนงาน ร่วมปฏิบัติการ และร่วมรับผลประโยชน์

(7) มีการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการที่ภาครัฐกำหนดในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดจริงจัง รวมทั้ง มีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการ ด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

(8) สนับสนุนงบประมาณการศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียง โดยเฉพาะการวิจัยด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น

4.2 หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ