คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) สำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Crosse — Border Transport Agreement : CBTA) ครั้งที่ 3 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 มิถุนายน 2553) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม JC สำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 — 17 มิถุนายน 2553 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งสรุปผลการประชุม ดังนี้
1. ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านการขนส่งหรือเทียบเท่าของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) 6 ประเทศ ผู้แทน AusAid ผู้แทนสหภาพยุโรป และผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว (นายสมมาด พลเสนา) ทำหน้าที่ประธานการประชุม และ Mr. Tom Crouch, Deputy Director — General, South — East Asia Department, ADB ทำหน้าที่ประธานร่วม
2. ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสคณะกรรมการอำนวยความสะดวกในการขนส่งแห่งชาติ (National Transport Facilitation Committee : NTFC) 2 ครั้ง ดังนี้
2.1 ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส NTFC เมื่อวันที่ 20 — 21 มกราคม 2553 ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
2.1.1 ความคืบหน้าในการเริ่มดำเนินการตามความตกลง CBTA นับจากการประชุม JC ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
2.1.2 ด้านกฎระเบียบ ที่ประชุม NTFC ขอให้ ADB พิจารณาให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ
2.1.3 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ณ ด่านชายแดน
2.2 ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส NTFC เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
3. คำกล่าวของรัฐมนตรี GMS ในส่วนของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในสาขาคมนาคมขนส่งนับจากการประชุมคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2550 คือ การเปิดเดินรถขนส่งระหว่างไทย — ลาว — เวียดนาม ตามแนวเส้นทางตะวันออก — ตะวันตก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 การลงนามความตกลงระหว่างไทย — ลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ — ห้วยทราย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2555 ประเทศสมาชิก GMS จะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3 (กรุงเทพฯ — คุนหมิง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะช่วยย่นระยะเวลาลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำให้ประชาชนในอนุภูมิภาคสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น ในส่วนของการดำเนินการตามความตกลง CBTA ประเทศไทยได้พยายามเร่งรัดกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินงานตามความตกลง CBTA ซึ่งหากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ประเทศไทยจะสามารถให้สัตยาบันภาคผนวกฉบับที่เหลือได้
4. การรับรองแถลงการณ์ร่วม (Joint Committee Statement)
ที่ประชุมให้การรับรองแถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ ADB ปรับปรุงใหม่ ซึ่งได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเพื่อให้ประเทศสมาชิกดำเนินการ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
4.1 การให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA ไทยและพม่า จะดำเนินการให้สัตยาบันในเวลาที่เหมาะสม
4.2 สิทธิการจราจร
4.3 ศุลกากรผ่านแดน
4.4 ขั้นตอน ณ ด่านชายแดน
อนึ่ง แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีความแตกต่างไปจากร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 โดยแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ ADB ปรับปรุงใหม่นี้เป็นการปรับปรุงแผนปฏิบัติงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในประเด็นการให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA ร่างฉบับเดิมระบุว่า “ ประเทศไทยจะให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารฉบับที่เหลือภายในปี 2553 ยกเว้นภาคผนวก 1 จะให้สัตยาบันในปี 2554” แต่แถลงการณ์ร่วมฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมในครั้งนี้ระบุว่า “การให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารจะดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม” ซึ่ง คค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยจะต้องจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับก่อนการดำเนินการให้สัตยาบันและจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้แสดงให้ประเทศสมาชิก GMS เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทยในการที่จะผลักดันให้ความตกลง CBTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบมาโดยตลอด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--