สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 24

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 16:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 24 ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำ และการดำเนินการตามแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สรุปได้ดังนี้

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ (2 สิงหาคม 2553) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 33,519 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (33,088 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 431 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำใช้การได้ 9,677 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (45,480 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61) จำนวน 11,961 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 40,036 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (2 สิงหาคม 2553) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 31,902 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน(31,361 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 541 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำใช้การได้ 8,378 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (43,185 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62) จำนวน 11,283 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสักฯ

                                                                  หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำ       ม.ค.     ก.พ.      มี.ค.    เม.ย.     พ.ค.    มิ.ย.      ก.ค.         รวม
ภูมิพล          52.09     1.74      4.95    0.00    15.60    34.06    135.79      244.23
สิริกิติ์         136.62    97.73     85.93   69.12   114.18   150.64    596.13    1,250.35
ภูมิพล+สิริกิติ์    188.71    99.47     90.88   69.12   129.78   184.70    731.92    1,494.58
แควน้อยฯ       42.49    25.69     31.19   14.35    19.65    33.36     74.64      241.37
ป่าสักชลสิทธิ์     41.06     5.51     19.00   10.18    17.44    27.91      5.72      126.82
รวม 4 อ่างฯ   272.26   130.67    141.07   93.65   166.87   245.97    812.28    1,862.77

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักชลสิทธิ์

                                                                              หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำ        ปริมาตรน้ำ        ปริมาตรน้ำ     ปริมาตรน้ำ           ปริมาณน้ำ         ปริมาณน้ำ    ปริมาณน้ำ
                ในอ่างปี52       ในอ่างปี 53     ใช้การได้           ไหลลงอ่าง          ระบาย      รับได้อีก
            ปริมาตรน้ำ   %    ปริมาตรน้ำ   %   ปริมาตรน้ำ    %      วันนี้  เมื่อวาน      วันนี้ เมื่อวาน
ภูมิพล           6,087  45       4,021  30        221    2     12.8   10.43        5      5    9,441
สิริกิติ์           5,015  53       3,603  38        753    8    25.12   19.48     6.86   7.14    5,907
ภูมิพล+สิริกิติ์     11,102  49       7,624  33        974    4    37.92   29.91    11.86  12.14   15,348
แควน้อยฯ          179  23         182  24        146   19     2.39    1.96     0.43   0.43      587
ป่าสักชลสิทธิ์        296  31          68   7         65    7        0       0     0.27   0.27      892

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 15 อ่าง ได้แก่ แม่งัด(27) แม่กวง(11) กิ่วคอหมา(23) แควน้อย(24) ห้วยหลวง(21) น้ำอูน(25) อุบลรัตน์(28) ลำปาว(23) ลำตะคอง(28) มูลบน(25) ป่าสักฯ(7) ทับเสลา(20) ขุนด่านฯ(22) คลองสียัด(25) และปราณบุรี(26) ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 72.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ (น้อยกว่าปี 2552 จำนวน 6.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 8) ปริมาณน้ำใช้การได้ 57 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 351.5 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯ (มากกว่าปี 2552 จำนวน 9.9 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 2) ปริมาณน้ำใช้การได้ 323 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้นบริเวณสถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น บริเวณสถานี N.1 หน้าสำนักงานป่าไม้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำตาปี แม่น้ำโก-ลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

3. คุณภาพน้ำ

กรมชลประทาน ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำ แม่กลอง ดังนี้

แม่น้ำ         จุดเฝ้าระวัง                                    ข้อมูล           ค่า Sal (g/l)        เกณฑ์
                                                           วันที่        ค่าสูงสุด        เวลา
เจ้าพระยา     ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี                           2 ส.ค. 53         0.23    07.51 น.     ปกติ
เจ้าพระยา     ปากเกร็ด* จังหวัดนนทบุรี                      2 ส.ค. 53         0.23    07.28 น.     ปกติ
             ปากคลองสำแล * จังหวัดปทุมธานี                2 ส.ค. 53         0.12    01.00 น.     ปกติ
ท่าจีน         ที่ว่าการอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม           2 ส.ค. 53         0.19    09.15 น.     ปกติ
แม่กลอง       ปากคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี             2 ส.ค. 53          0.1    23.00 น.     ปกติ

หมายเหตุ ค่ามาตรฐานความเค็มที่ปากคลองสำแลไม่เกิน 0.20 กรัม/ลิตร

การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ตามแผนเตรียมสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด ถึงแม้จะมีฝนตกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าค่อนข้างมาก ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ปริมาณน้ำ ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆยังค่อนข้างน้อย

2. สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปรับแผนปฏิบัติการการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการ จำนวน 11 หน่วย และฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 6 ฐาน โดยเน้นปฏิบัติการให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำต่างๆ ดังนี้

2.1 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคเหนือ มีหน่วยปฏิบัติ จำนวน 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก แพร่ และพิษณุโลก

2.2 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคกลาง มีหน่วยปฏิบัติ จำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดลพบุรี และกาญจนบุรี ฐานเติมสารฯ จำนวน 1 ฐาน คือ จังหวัดนครสวรรค์

2.3 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหน่วยปฏิบัติ จำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานี ฐานเติมสารฯ จำนวน 3 ฐาน คือ จังหวัดบุรีรัมย์ นครพนม นครราชสีมา

2.4 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคตะวันออก มีหน่วยปฏิบัติ จำนวน 1 หน่วย คือ หน่วยฯ จังหวัดสระแก้ว ฐานเติมสารฯ จำนวน 1 ฐาน คือ จังหวัดระยอง

2.5 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคใต้ มีหน่วยปฏิบัติ จำนวน 2 หน่วย คือ หน่วยฯ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ฐานเติมสารฯ จำนวน 1 ฐาน คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำสัปดาห์ ช่วงวันที่ 23-29 กรกฎาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 199 เที่ยวบิน มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก 60 จังหวัด วัดปริมาณน้ำฝนสูงสุดได้ 135.08 มิลลิเมตร ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ รวม 523.01 ล้าน ลบ.ม.

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงสะสม 25 มกราคม — 29 กรกฎาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการรวม 153 วัน จำนวน 4,664 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในปฏิบัติการ รวม 142 วัน จำนวน 678 สถานี วัดปริมาณน้ำฝนรายวันสูงสุดได้ 250.0 มิลลิเมตร จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 63 จังหวัด จากจำนวนจังหวัดที่อยู่ในเป้าหมายทั้งหมด 70 จังหวัด

ผลกระทบด้านการเกษตร ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2553

อุทกภัย ช่วงภัยวันที่ 5 มิถุนายน.-19 กรกฎาคม.2553

ด้านพืช พื้นที่ประสบภัย 7 จังหวัด 20 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน ลำปาง เชียงราย กาญจนบุรี นครปฐม ตรัง และสตูล เกษตรกร 13,561 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 61,777 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 13,482 ไร่ พืชไร่ 42,021 ไร่ และพืชสวน 6,274 ไร่ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 30,077 ไร่)

ด้านประมง พื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน ลำปาง และเลย เกษตรกร 1,002 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 1,008 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 549 ไร่ 108 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 2,286 ตารางเมตร (ไม่มีรายงานเพิ่มเติมจากสัปดาห์ก่อน)

ด้านปศุสัตว์ พื้นที่ประสบภัย 2 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน และพะเยา เกษตรกร 481 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 15,941 ตัว แยกเป็น โค-กระบือ 7 ตัว สุกร 2 ตัว สัตว์ปีก 15,932 ตัว (เพิ่มเติมจากสัปดาห์ก่อน 1 จังหวัด คือ พะเยา จำนวน 651 ตัว)

การดำเนินการ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

ฝนทิ้งช่วง ช่วงภัยวันที่ 17 พฤษภาคม — 13 กรกฎาคม 2553

ด้านพืช พื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัด 17 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน พิจิตร แพร่ และอำนาจเจริญ ชุมพร เกษตรกร 43,499 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 223,685 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 164,309 ไร่ พืชไร่ 55,436 ไร่ และพืชสวน 3,940 ไร่ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1,922 ไร่)

การดำเนินการ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

ภัยแล้ง ช่วงภัยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 พฤษภาคม 2553

ด้านพืช พื้นที่การเกษตรเสียหาย 45 จังหวัด เกษตรกร 212,199 ราย พื้นที่การเกษตรทั้งสิ้น 1,528,614 ไร่ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2,363 ไร่) แบ่งเป็น ข้าว 96,498 ไร่ พืชไร่ 1,269,002 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 163,114 ไร่ คิดเป็น วงเงินช่วยเหลือ 1,251.1333 ล้านบาท

การดำเนินการ

  • ช่วยเหลือแล้วด้วยงบจังหวัดและงบกลาง วงเงิน 63.1648 ล้านบาท
  • อยู่ระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหา อุทกภัยและภัยแล้ง (คอปล.) วงเงิน 331.3597 ล้านบาท
  • อยู่ระหว่างรอเอกสารของบกลางของจังหวัด วงเงิน 856.6088 ล้านบาท

ด้านปศุสัตว์ช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว และด้านประมงไม่มีความเสียหาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ