สถานการณ์ราคาสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 16:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสถานการณ์ราคาสินค้า ของกระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์ราคาสินค้า (มกราคม — กรกฎาคม 2553)

1.1 หมวดผักสด

ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2553 (มค. — มีค.) ราคาผักสดส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้น หรือลดลงตาม ฤดูกาล และปริมาณสินค้าที่เข้าสู่ตลาดในแต่ละช่วงเวลา โดยผักสดบางชนิด เช่น ผักชี ต้นหอม และถั่วฝักยาว ได้มีปัญหาราคาสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 (เมย.-มิย.) เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากผิดปกติ ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงอย่างมาก สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน (กค. 53) ผักสดมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 ที่เป็นช่วงราคาสูงสุด เช่น ผักชี ราคาลดลงจากขีดละ 9 — 36 บาท เหลือขีดละ 11 - 12 บาท ต้นหอม ราคาลดลงจากขีดละ 4-11 บาท เหลือขีดละ 5 — 7 บาท ถั่วฝักยาว ราคาลดลงจากกก.ละ 48 — 108 บาท เหลือ กก.ละ 19 — 22 บาท

1.2 หมวดเนื้อสัตว์

สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะที่ผ่านมา ได้แก่ ไข่ไก่ และสุกรชำแหละ ดังนี้

1.2.1 ไข่ไก่ สถานการณ์ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเดือนพฤษภาคม — มิถุนายน 2553 เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณการนำเข้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไข่ไก่ ส่งผลให้ปริมาณไก่ไข่ไม่เพียงพอ และสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ปริมาณไข่ไก่ลดลงประมาณร้อยละ 20 ทำให้ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มราคาปรับสูงขึ้นเป็นฟองละ 2.80 บาท (ช่วงต้นปีเฉลี่ยฟองละ 2.30 บาท) และมีแนวโน้มจะปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงฟองละ 3.00 บาท กระทรวงพาณิชย์จึงเข้าไปดำเนินการแทรกแซงตลาดโดยขอให้ตรึงราคาไว้ สำหรับในปัจจุบัน (กค. 53) ราคาไข่ไก่ได้เริ่มลดลง โดยราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มลดลงเหลือฟองละ 2.70 บาท ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2553 เป็นผลให้ราคาขายปลีกไข่ไก่ในตลาดทั่วไปลดลงตามไปในทิศทางเดียวกัน

1.2.2 สุกรชำแหละ สถานการณ์ราคาเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดต่อเนื่อง และภาวะการขาดแคลนน้ำทำให้สุกรโตช้าโดยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม กก.ละ 61 — 62 บาท ราคาขายปลีก หมูเนื้อแดง กก.ละ 115 — 120 บาท และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก กระทรวงพาณิชย์จึงเข้าไปแทรกแซงตลาดโดยให้ตรึงราคาไว้ สำหรับในปัจจุบันราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มได้เริ่มลดลง เหลือกก.ละ 60 — 61 บาท ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ส่งผลให้ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงในตลาดทั่วไปลดลงตามไปในทิศทางเดียวกัน

1.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม

1.3.1 กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ราคาสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทรงตัว ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์นม ผลไม้และน้ำผลไม้บรรจุภาชนะผนึก น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร โดยในส่วนของอาหารบรรจุกระป๋องที่ต้องใช้เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ซึ่งมีราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายไว้ เพื่อมิให้เป็นภาระกับผู้บริโภคในประเทศ

1.3.2 กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว ยกเว้นสินค้ากลุ่มเหล็ก เช่น เหล็กเส้น ขนาด 9 มม. ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากเส้นละ 111.75 บาท (มค.53) เป็นเส้นละ 116.50 บาท (กค.53) ตามภาวะต้นทุนวัตถุดิบ( เหล็กแท่งยาว เหล็กแท่งแบน) ในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ในส่วนสายไฟฟ้า ปรับลดลงจากขด (100 เมตร) ละ799 บาท (มค.53) เป็นขดละ 782บาท (กค.53)

1.3.3 กลุ่มบริภัณฑ์ขนส่ง ภาพรวมสินค้าส่วนใหญ่ราคาทรงตัวตามภาวะการแข่งขันในตลาด ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก รถจักรยานยนต์ ไส้กรอง ผ้าเบรค สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ วัตถุดิบสำคัญ คือ ตะกั่วบริสุทธิ์ ราคายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยราคาเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ 1,834.66 USD/ตัน หรือ 59.83 บาท/กก. เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้รายใหญ่ ยังมีความต้องการใช้ตะกั่วในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายปลีกแบตเตอรี่รถยนต์บรรทุกเล็ก รุ่น N 70 Z ทรงตัวอยู่ที่ 2,400 บาท/ลูก

1.3.4 กลุ่มปัจจัยทางการเกษตร ภาพรวมราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงทรงตัว ได้แก่ รถไถ รถแทรกเตอร์ จอบ เสียม ยกเว้น ปุ๋ยเคมี ซึ่งราคาแม่ปุ๋ยยูเรีย (UREA) ในตลาดโลกปรับลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ที่ 336 USD/ตัน เป็น 279 USD/ตัน (กค.53) ส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลีกปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 ในประเทศลดลงจากกระสอบละ (50 กก.) 665 บาท เป็นกระสอบละ 570 บาท ในส่วนของอาหารสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ ปัจจุบันราคาลดลงจากเดือนก่อน ได้แก่ ข้าวโพด กก.ละ 8.37 บาท ลดลงจาก กก.ละ 9.44 บาท กากถั่วเหลือง กก.ละ 12.25 บาท ลดลงจาก กก.ละ 14.25 บาท อย่างไรก็ดี มีบางส่วนที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ปลาป่น กก.ละ 28.70 บาท สูงขึ้นจาก กก.ละ 27.34 บาท มันเส้น กก.ละ 6.35 บาท สูงขึ้นจาก กก.ละ 6.27 บาท ปลายข้าว กก.ละ 9.20 บาท สูงขึ้นจาก กก.ละ 8.80 บาท รำข้าว กก.ละ 8.95 บาท สูงขึ้นจาก กก.ละ 9.70 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนและราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ลดลง

2. การดำเนินการกำกับดูแลและช่วยเหลือประชาชน

2.1 การกำกับดูแลราคาสินค้า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาเฉพาะสินค้า รวม 6 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาเหล็กเส้นและ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ แต่งตั้ง 6 มีนาคม 2547 (2) คณะอนุกรรมการพิจารณาราคายารักษาโรคแผนปัจจุบัน แต่งตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2550 (3) คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้าผลิตภัณฑ์นม แต่งตั้ง 17 ธันวาคม 2550 (4) คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี แต่งตั้ง 21 มีนาคม 2551 (5) คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ แต่งตั้ง 21 มีนาคม 2551 และ (6) คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชบริโภค แต่งตั้ง 21 มีนาคม 2551 อนึ่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงกรกฎาคม 2553 มิได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการชุดใด เพื่อพิจารณาปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาจำหน่ายสินค้าไว้ สำหรับผลการดำเนินการในการดูแลราคาสินค้าหมวดต่างๆ มีดังนี้

2.1.1 หมวดผักสด ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้ากำหนดให้มีการปิดป้ายแสดงราคาขายปลีก และจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ เพื่อกำกับดูแลให้ราคาขายปลีกสอดคล้องกับราคาขายต้นทาง

2.1.2 หมวดสินค้าเนื้อสัตว์

(1) ไข่ไก่ ได้ตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มทั้งระบบ ฟองละ 2.80 บาท (ปัจจุบันลดลงเหลือ ฟองละ 2.70 บาท) และกำหนดราคาขายปลีกแนะนำทั่วประเทศ (ไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.20 บาท ปัจจุบันลดเหลือฟองละ 3.10 บาท) รวมทั้งจัดจำหน่ายไข่ไก่ธงฟ้าราคาประหยัด (เบอร์ 3 ฟองละ 2.80 บาท) จำหน่ายในห้างค้าปลีกค้าส่งทั่วประเทศ รวมทั้งให้สำนักงานการค้าภายในจังหวัด จัดจำหน่ายไข่ไก่ธงฟ้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ

(2) สุกรชำแหละ ได้ตรึงราคาสุกรมีชีวิตไว้ที่ กก.ละ 61 — 62 บาท และกำหนดราคาขายปลีกแนะนำหมูเนื้อแดงไว้ที่ กก.ละ 115 — 120 บาท สัปดาห์นี้สุกรมีชึวิตราคาลดลงเหลือ กก.ละ 60 — 61 บาท จะส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง กก.ละ 2 บาท ในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนเตรียมพร้อมจำหน่าย หมูธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อแทรกแซงตลาดในกรณีที่บางพื้นที่มีราคาขายปลีกสูงเกินราคาแนะนำ

2.1.3 หมวดอาหารสัตว์ ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอาหารสัตว์ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 เพื่อพิจารณาสถานการณ์ราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์บางรายการมีราคาลดลง เช่น กากถั่วเหลือง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ต้นทุนเลี้ยงสัตว์ลดลง อันจะส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ลดลงด้วย ผลการพิจารณาปรากฎว่า ต้นทุนอาหารสัตว์บกลดลงร้อยละ 0.60-5.10 ส่วนอาหารสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ผู้ประกอบการ ปรับลดราคาอาหารสัตว์บกลง ร้อยละ 2-5 ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไปสำหรับราคาอาหารสัตว์น้ำให้ยืนราคาไว้ นอกจากนี้ ได้มีมติให้มีการติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด และจัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต้นทุนอาหารสัตว์ทุกเดือน

2.1.4 สินค้าอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าจนถึงเดือนกันยายน 2553 กำกับดูแลราคาวัตถุดิบที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มโลหะ เช่น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เป็นต้น สำหรับในส่วนของน้ำตาลทรายที่มีปัญหาด้านปริมาณตึงตัวและราคาสูงได้ขอความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรม จัดโควตาพิเศษให้กระทรวงพาณิชย์เพื่อกระจายให้แก่ประชาชนผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถหาซื้อน้ำตาลทรายได้

2.2 การช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน

2.2.1 จัดงานธงฟ้ามหาชน (พย. 52 — มิย. 53) จำนวน 9 ครั้ง (กทม. 4 ครั้ง/ภูมิภาค 5 ครั้ง) ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าครองชีพทั้งระบบได้ประมาณ 516 ล้านบาท

2.2.2 เพิ่มจำนวนร้านอาหารมิตรธงฟ้า เพื่อจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคาประหยัดโดยผู้เข้าร่วมโครงการได้จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในราคา 20 — 25 บาท ต่อจาน/ชาม โดยขณะนี้มีร้านอาหารมิตรธงฟ้า ทั้งใน กทม.และภูมิภาคทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,015 ร้าน

2.2.3 กำหนดราคาขายอาหารปรุงสำเร็จ จาน/ชามละ 25 บาท ขอความร่วมมือให้ร้านอาหารภายในศูนย์อาหารของห้างค้าปลีกค้าส่งและห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านอาหารในตลาดสด ทั้งใน กทม.และภูมิภาค ให้มีการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ อย่างน้อยร้านค้าละ 1 รายการ ในราคา 25 บาท ต่อจาน/ชาม เพื่อเป็นทางเลือกและเป็นการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ปัจจุบันผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือโดยห้างเทสโก้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ แม็คโคร ท๊อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ได้จัดจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในศูนย์อาหารโดยให้มี 1 ร้าน 1 เมนู 25 บาท เป็นทางเลือกประชาชนแล้วทุกสาขาทั่วประเทศแล้ว สำหรับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลจะจำหน่าย 1 ร้าน 1 เมนู 25 บาท ในศูนย์อาหารได้ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป ส่วนห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ได้ให้ความร่วมมือจัดเป็นซุ้มอาหารจาน/ชามละ 25 บาท (เช่น ข้าวราดแกง ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า เป็นต้น) แล้วตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2553

2.2.4 กำหนดราคาขายปลีกแนะนำน้ำดื่มบรรจุขวด โดยได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ กำหนดราคาขายปลีกแนะนำน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกใส (ขวด PET) ขนาด 500 — 600 ซีซี ไม่เกินขวดละ 7 บาท และขนาด 1,500 ซีซี ไม่เกินขวดละ 14 บาท พร้อมทั้งขอความร่วมมือสมาคมภัตตาคารไทย และศูนย์จำหน่ายอาหารต่าง ๆ ให้จำหน่ายในราคาไม่เกินราคาขายปลีกที่แนะนำ ทั้งนี้ จะได้ออกตรวจสอบมิให้มีการขายเกินราคาแนะนำต่อไป

3. แนวโน้มสถานการณ์ราคาสินค้า

3.1 แนวโน้มราคาสินค้าพืชผัก และเนื้อสัตว์

3.1.1 พืชผัก คาดว่าส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มราคาลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก อันจะส่งผลทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น

3.1.2 ไข่ไก่และเนื้อสัตว์ คาดว่าราคาจะมีแนวโน้มลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ หลายชนิดที่มีราคาปรับลดลง รวมทั้งสภาพอากาศที่เย็นลงจะเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอันจะทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

3.2 แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

3.2.1 สินค้าของใช้ประจำวัน คาดว่าจะมีราคาทรงตัวอยู่ในระดับราคาปัจจุบัน เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีผู้ประกอบการหลายราย และมีการแข่งขันสูง

3.2.2 สินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่าวัตถุดิบในตลาดโลกอาจมีการปรับราคาสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศ แจ้งขอปรับราคาจำหน่ายสินค้าในประเทศตามภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

4. มาตรการดำเนินการในระยะต่อไป

4.1 ตรึงราคาสินค้าหรือชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า กรณีที่ผู้ประกอบการยังสามารถบริหารต้นทุนได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนผู้บริโภค

4.2 เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลราคาสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนทั้งในส่วนของต้นทาง (ราคาโรงงาน) และปลายทาง (ราคาขายปลีก) รวมทั้งเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสกำหนดราคาไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มอาสาสมัครแม่บ้านธงฟ้า 1569 เพื่อช่วยทางราชการสอดส่องราคาสินค้า

4.3 พิจารณาเสนอปรับลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอาหารสุกร ลดลงถุง(30 กก.) ละประมาณ 0.95 บาท ราคาสุกรมีชีวิตลดลงตัวละประมาณ 8.50 บาท/100 กก. หรือกก.ละ 0.85 บาท และราคาสุกรชำแหละเนื้อแดงจะลดลงประมาณ กก.ละ 1-2 บาท

4.4 จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้าที่ กกร. แต่งตั้ง โดยเฉพาะในสินค้าเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์นม ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ และน้ำมันพืชบริโภคที่อาจมีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่ายให้สอดคล้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้บริโภค และป้องปรามการฉวยโอกาสการขึ้นราคาสินค้า

4.5 เพิ่มจำนวนร้านอาหารมิตรธงฟ้าเป็น 6,000 ร้าน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4,016 ร้าน รวมทั้งร่วมมือกับสมาคมภัตตาคารไทย ให้สมาชิกร้านอาหารของสมาคมจัดเมนูอาหารธงฟ้าจำหน่ายในราคาจานละ 25 บาท เพื่อเป็นทางเลือกและช่วยเหลือประชาชน

4.6 จัดงานธงฟ้ามหาชน เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพและส่วนภูมิภาคประมาณ 150 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะแบ่งเบาภาระประชาชนผู้บริโภคทั้งระบบได้ร้อยละ 20-40 หรือลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้อีกประมาณ 800 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 สิงหาคม 2553--จบ--


แท็ก ต้นหอม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ