ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 11:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ

และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. .....

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. ..... ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ

ข้อเท็จจริง

สำนักงาน ก.พ.เสนอว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 98 วรรคสี่ บัญญัติว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.” และในคราวประชุม ก.พ.เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. ....

ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ.ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจาก อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการด้วยแล้ว

สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “วินัย” และคำว่า “พยาน” (ร่างข้อ 2)

2. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำในฐานะพยานอันเป็นประโยชน์และเป็นผลดียิ่งต่อทางราชการ ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งได้รับความคุ้มครองพยานและอาจได้รับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ (ร่างข้อ 3)

3. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ที่อาจจะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดวินัยกับข้าราชการอื่น ถ้าได้ให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำต่อบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือ ตรวจสอบ และข้อมูลหรือถ้อยคำนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ อาจได้รับการกันเป็นพยาน การลดโทษ หรือการให้ความคุ้มครองพยาน (ร่างข้อ 4)

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการให้ความคุ้มครองพยาน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ชั้นและผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองพยาน ในกรณีที่พยานผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไม่ได้ให้การคุ้มครองหรือการให้การคุ้มครองดังกล่าวไม่เพียงพอ อาจยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเพื่อพิจารณาดำเนินการ และในกรณีพยานผู้ใดเห็นว่าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งยังไม่ได้ให้การคุ้มครองหรือการให้การคุ้มครองดังกล่าวไม่เพียงพอ อาจยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อสำนักงาน ก.พ.ได้ ทั้งนี้ การให้ความคุ้มครองพยาน ให้พิจารณาดำเนินการในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ และให้เริ่มตั้งแต่มีการให้ข้อมูลหรือถ้อยคำจนกว่าจะมีการสั่งยุติเรื่องหรือดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายนี้แก่ผู้เป็นต้นเหตุเสร็จสิ้น (ร่างข้อ 7-12)

5. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกันเป็นพยาน โดยกำหนดให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งอาจกันผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตามร่างข้อ 4 เป็นพยานได้ หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ หากผู้ที่ถูกกันเป็นพยานไม่มาให้ถ้อยคำ หรือมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำ หรือให้ถ้อยคำแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ หรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือกลับคำให้การให้การกันผู้นั้นไว้เป็นพยานเป็นอันสิ้นสุดลง (ร่างข้อ 13-14)

6. กำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาลดโทษกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำตาม ร่างข้อ 4 ได้ให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำที่สำคัญจนเป็นเหตุให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำผิดได้ และต้องถูกลงโทษวินัยเพราะเหตุที่ได้ร่วมกระทำผิดวินัยนั้นด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งพิจารณาลดโทษให้ผู้นั้นต่ำกว่าโทษที่ควรได้รับจริงได้ (ร่างข้อ 16)

7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษแก่ผู้ให้ข้อมูลหรือถ้อยคำตามร่างข้อ 3 โดยกำหนดให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาตามระดับความมากน้อยของประโยชน์และผลดียิ่งต่อทางราชการที่ได้รับจากการให้ข้อมูลหรือถ้อยคำนั้น (ร่างข้อ 17-18)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ