คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า
1. สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (22 พฤษภาคม 2550, 25 ธันวาคม 2550) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะองค์อุปถัมภ์วงการดนตรีคลาสสิกแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เจริญพระชนมายุ 7 รอบ
2. สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะ ด้านดนตรีคลาสสิกสำหรับผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษและบุคคลทั่วไปทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ต่อเนื่องจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับปริญญา ตลอดจนทำหน้าที่เผยแพร่ดนตรีคลาสสิกแก่สาธารณชนในลักษณะการแสดงดนตรี การฝึกอบรม และกิจกรรมเสริมทักษะอื่น ๆ เพื่อการบริการทางวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และทำหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐาน และกำหนดเกณฑ์การประเมินมาตรฐานความรู้ความสามารถและทักษะด้านดนตรีคลาสสิกของนักดนตรีในประเทศ เพื่อเทียบเคียงมาตรฐานสากล
3. ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนดนตรีคลาสสิกทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่เปิดการเรียนการสอนด้านดนตรีคลาสสิก จึงสมควรจัดตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศด้านดนตรีคลาสสิก
4. สภามหาวิทยาลัยศิลปากรในคราวประชุม ครั้งที่ 10/2552 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. .... และให้เสนอกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในกำกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และมีวัตถุประสงค์ อำนาจ หน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 4 ร่างมาตรา 6 และ ร่างมาตรา 12)
2. กำหนดการแบ่งส่วนงานของสถาบัน การจัดตั้ง การรวมและการยุบเลิกสำนักงาน (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)
3. กำหนดให้สถาบันมีอำนาจรับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นเข้าสมทบได้ หรือจัดการศึกษาและการวิจัยร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่นๆ ทั้งในหรือต่างประเทศ (ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 10)
4. กำหนดแหล่งที่มาของรายได้ของสถาบันส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี และเงินกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น และให้รายได้ของสถาบันไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ (ร่างมาตรา 13)
5. กำหนดให้มีสภาสถาบัน ประกอบด้วย นายกสภาสถาบันซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และให้สภาสถาบันมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 17 และร่างมาตรา 19)
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบัน ประกอบด้วย อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 20 และร่างมาตรา 21)
7. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการสถาบัน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการตามที่กำหนด โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 23)
8. กำหนดให้มีการประกันคุณภาพและการประเมินของสถาบันและกำหนดให้สถาบันมีระบบบัญชีและ การตรวจสอบ (ร่างมาตรา 34 ถึงร่างมาตรา 38)
9. กำหนดตำแหน่งทางวิชาการคณาจารย์ประจำของสถาบันและกำหนดปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะของสถาบัน (ร่างมาตรา 46 ถึงร่างมาตรา 58)
10.กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน และรายได้ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในกำกับของมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่นายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน และอธิการบดีตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดเกี่ยวกับการนำพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ข้อบังคับ ระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 61 ถึงร่างมาตรา 65)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--