เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญ
ข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัด
บำนาญ พ.ศ. 2521 พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่น
ในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 4 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
2. ให้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับกลับคืนไปยังกระทรวงการคลังก่อน และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1. แล้ว ให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยแก้ไขให้สอดคล้องกันต่อไป
ข้อเท็จจริง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการายงานว่า
1. คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จแล้ว โดยสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงบประมาณ) กระทรวงกลาโหม (สำนักงานปลัดกระทรวง) กระทรวงการคลัง (สำนักงานปลัดกระทรวง และกรมบัญชีกลาง) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้แล้ว
2. สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เห็นควรให้ส่งกลับคืนไปยังกระทรวงการคลังก่อน เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการในการตราพระราชบัญญัติจะมีระยะเวลาดำเนินการนานกว่ากระบวนการตราพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น เพื่อมิให้มีความผิดพลาดในการดำเนินการซึ่งอาจเกิดกรณีที่มีการประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้ผู้มีสิทธิรับ ช.ค.บ. เสียสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในหลักการของพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ จึงเห็นว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแล้วจึงจะเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกันต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1.1 กำหนดอัตราขั้นต่ำสำหรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญให้ได้รับไม่ต่ำกว่าหกพันบาท หากได้ต่ำกว่าหกพันบาท ให้ได้รับเพิ่มขึ้นอีกจนถึงเดือนละหกพันบาท (เพิ่มมาตรา 32/1)
1.2 กำหนดให้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรปรับอัตราเบี้ยหวัดหรือบำนาญเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราและไม่เกินร้อยละสิบของเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (เพิ่มมาตรา 34)
1.3 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอด ในกรณีที่ผู้ได้รับบำนาญปกติ หรือผู้มีสิทธิจะได้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทเป็นจำนวนสามสิบเท่าของบำนาญรายเดือน และให้จ่ายตามส่วนและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 38 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49)
2. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2.1 กำหนดอัตราขั้นต่ำสำหรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญให้ได้รับไม่ต่ำกว่าหกพันบาท หากได้ต่ำกว่าหกพันบาท ให้ได้รับเพิ่มขึ้นอีกจนถึงเดือนละหกพันบาท (เพิ่มมาตรา 63/1)
2.2 กำหนดให้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรปรับอัตราเบี้ยหวัดหรือบำนาญเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราและไม่เกินร้อยละสิบของเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (เพิ่มมาตรา 63/2)
2.3 กำหนดอัตราและวิธีการคำนวณรวมเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญกับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ในบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 5)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--