สถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 13:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้ สช. รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการด้วย โดยในส่วนของคณะทำงานที่จะจัดตั้งขึ้นให้มีผู้แทนของกรมโรงงาน อุตสาหกรรมร่วมเป็นคณะทำงานด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า

1. ในการประชุม คสช. ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 คสช. ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอข้อเสนอ เชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่จังหวัดระยองต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และให้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษา สนับสนุน และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของ คสช. ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานความ คืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ ให้สศช. ได้ทราบอย่างต่อเนื่อง

2. ในการประชุม คสช. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 คสช. รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ โดยเฉพาะรายงานการศึกษาสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์อุบัติภัยสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์รั่วไหลออกจากถังกักเก็บของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตสารเคมีหลายชนิด เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ดังมีสถานการณ์และข้อเสนอโดยสรุป ดังนี้

2.1 สาเหตุและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณโดยรอบ

เหตุการณ์เกิดจากถังสารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ล้มกระแทกกับกำแพงซีเมนต์แล้วตกกระแทกกับท่อกรดไฮโดรคลอริก (HCI) ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเป็นก๊ษซคลอรีนมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและทำลายระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมาบตาพุด จำนวน 1,434 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต

2.2 ข้อบกพร่องของระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล

จากการวิเคราะห์มาตรการตามรายงานอีไอเอ คณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ ได้พบ ข้อบกพร่อง ดังต่อไปนี้

2.2.1 ไม่มีการประเมินผลกระทบและไม่มีกำหนดมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังรวมทั้งแผนรับมือจากการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี

2.2.2 คนงานก่อสร้างจำนวนมากในโรงงานพีทีที อาซาฮี ซึ่งได้รับผลกระทบทันทีจากโรงงานต้นเหตุ ไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยใด ๆ

2.2.3 โรงพยาบาลมาบตาพุด มีสถานที่และบุคลากรไม่เพียงพอในการรับมือกับผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมี

2.2.4 จำนวนถังเก็บสารเคมีที่โรงงานชี้แจงกับในรายงานอีไอเอไม่ตรงกัน

2.2.5 เมื่อเกิดเหตุทางบริษัทแจ้งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทราบเพียงแห่งเดียว ไม่ได้แจ้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย จึงเกิดความล่าช้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

2.2.6 การแจ้งข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) ของการนิคมฯ ขาดข้อมูลที่สำคัญหลายส่วน เช่น ชื่อสารเคมีที่เกิดการรั่วไหล ทิศทางการแพร่กระจายของสารเคมีและแนวทางในการป้องกันตนเอง และจำนวนผู้รับข้อความมีจำนวนน้อยเกินไป (ประมาณ 400 คน)

2.2.7 ไม่มีการแจ้งเหตุหรือสัญญาณเตือนภัยกับชุมชน

2.2.8 ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่ทราบแนวทางการอพยพและการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติภัย

2.3 ประเด็นปัญหา

จากการวิเคราะห์ภาพรวมของระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงพบประเด็นปัญหา ดังนี้

2.3.1 การแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและการแจ้งเหตุกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า แต่ละโรงงานมีการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและขั้นตอนในการสื่อสารกับการนิคมฯ ไม่เหมือนกัน และแตกต่างจากการนิคมฯ และหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ เกณฑ์การแบ่งระดับที่ว่าหากเป็นเหตุฉุกเฉินระดับหนึ่ง โรงงานจะไม่แจ้งเหตุกับหน่วยงานใดเลยต้องมีความร้ายแรงระดับสองและสาม จึงจะมีการแจ้งการนิคมฯ ทำให้เกิดปัญหาที่โรงงานไม่สามารถแจ้งเหตุและ รับมือกับเหตุฉุกเฉินได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

2.3.2 ในขั้นตอนการเผชิญเหตุของทางโรงงานไม่มีการตรวจวัดค่าความเข้มข้นของมลพิษอากาศในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปที่ควรดำเนินการเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับฝ่ายต่างๆ เช่น โรงพยาบาล และหน่วยเผชิญภัย เป็นต้น

2.3.3 ในขั้นตอนการประกาศเหตุฉุกเฉินของหน่วยราชการ พบว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองมีการประกาศเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลมาบตาพุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบด้วยในขณะที่ทางจังหวัดระยองมีการดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการประกาศเหตุฉุกเฉิน จึงเกิดอุปสรรคในหลายด้าน เช่น บุคลากรสาธารณสุขต้องไปจัดการจราจรแทนที่จะเป็นตำรวจจราจรออกมาทำหน้าที่ตามการประกาศเหตุฉุกเฉินของจังหวัด เป็นต้น

2.3.4 การเยียวยาและความรับผิด พบว่า

(1) การตรวจสอบสาเหตุของอุบัติภัยที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไขปรับปรุง ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับค่าจ้างจากบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงาน ต้นเหตุ จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อถือได้และความโปร่งใสของการตรวจสอบ

(2) การรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บเป็นระยะเวลา 7 วันของทางบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีเพียงแนวทางกว้าง ๆ แต่ยังไม่ชัดเจนถึงขอบเขตความรับผิดชอบและผู้ได้รับผลกระทบ เช่น คนงานและชาวบ้านยังไม่ทราบ หรือยังสับสนไม่ชัดเจน จึงยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล

(3) การเยียวยาและความรับผิดชอบอื่นๆ ของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่ชัดเจน เช่น ค่าชดเชยการเจ็บป่วย ผลกระทบและความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ความรับผิดทางอาญา และความรับผิดทางแพ่งอื่นๆ

2.4 ข้อเสนอต่อการปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ ใกล้เคียง

คณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ มีข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้

2.4.1 พัฒนาระบบการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินให้สอดคล้องกันทุกโรงงานและหน่วยงาน

2.4.2 กำหนดให้โรงงานต้องแจ้งไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินในทุกระดับ โดยความรุนแรงระดับหนึ่งอาจแจ้งบางหน่วยงาน แต่ต้องไม่จำกัดเฉพาะการนิคมฯ ควรรวมถึงหน่วยงานสาธารณสุข (สายด่วน 1699) และป้องกันภัยจังหวัดด้วย ส่วนความรุนแรงระดับสอง และสามต้องแจ้งหน่วยงานและชุมชนทันที

2.4.3 กำหนดมาตรการและขั้นตอนในการเผชิญเหตุการระงับและการแก้ไขให้ครบถ้วน ชัดเจน โดยต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีการลงโทษที่เหมาะสม

2.4.4 ทางจังหวัดต้องตัดสินใจประกาศเหตุฉุกเฉินให้เหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติภัย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการและเป็นระบบโดยมีการประสานงานที่ดี

2.4.5 การสืบสวนกรณีการเกิดอุบัติภัย (After Incident Investigation) ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและต้องไม่รับค่าจ้างและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงงานต้นเหตุ และต้องสืบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ล่าช้าเกินไปและเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ

2.4.6 บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยให้มีการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ค่าความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความรับผิดทางอาญา

2.5 มติ คสช. ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 18 มิถุนายน 2553

คสช. มีมติรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ กรณีการแก้ไขผลกระทบต่อสุขภาพจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง และให้นำสถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ