ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ การทบทวนบทบาท ภารกิจ และความจำเป็นในการมีอยู่ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ ตามผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1/2553 และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจต่อไป ตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เสนอ

ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1/2553 มีสาระสำคัญดังนี้

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

1.1 เรื่องเดิม

(1) การดำเนินการโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) องค์ประกอบและหน้าที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ได้มีการประชุม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 วันที่ 11 มีนาคม 2553 และวันที่ 25 มิถุนายน 2553 โดยมีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ PPPs และกรอบและ แนวทางการคัดเลือกโครงการลงทุนภาครัฐที่เหมาะสมที่จะทำ PPPs ตลอดจนเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการโครงการทางพิเศษสายศรีรัช — วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบ PPPs และจัดทำ Market sounding ของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทาง รวมทั้งปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

(2) การจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 เห็นชอบตามผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ที่เห็นชอบหลักการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังศึกษาจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยให้สอดคล้องกับแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (PPPs) ซึ่งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยจะมีลักษณะเป็นนิติบุคคลที่นำโครงการโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่างๆ มาระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากโครงการดังกล่าว ในขณะที่ภาครัฐยังคงเป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ และต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 คณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยเพื่อกำกับดูแล ให้การจัดตั้งและระดมทุนผ่านกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยของรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับความต้องการระดมทุนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่อไป

(3) การนำบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 เห็นชอบตามผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ที่เห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย พ.ศ. 2553-2557 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่กำหนดให้นำบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยธุรกิจใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานกับรัฐวิสาหกิจและบริษัทลูกที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

1.2 มติที่ประชุม

กนร. รับทราบการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

2. การทบทวนบทบาท ภารกิจ และความจำเป็นในการมีอยู่ของรัฐวิสาหกิจ

2.1 เรื่องเดิม

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 รับทราบรายงานผลการประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี พ.ศ. 2551 ของรัฐวิสาหกิจภายใต้ระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 52 แห่ง และเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่ให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อ กนร. ภายใน 3 เดือน โดยมีรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนปรับบทบาทหรือแผนพลิกฟื้นตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 7 แห่ง ดังนี้ องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การตลาด บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด องค์การคลังสินค้า

2.2 มติที่ประชุม

กนร. รับทราบความคืบหน้าผลผลการทบทวนบทบาท ภารกิจและความจำเป็นในการมีอยู่ของรัฐวิสาหกิจ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ กนร. จัดประชุมรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนปรับบทบาทหรือแผนพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การ ส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การตลาด การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด และองค์การคลังสินค้าและให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง รายงานความคืบหน้าในการประชุม กนร. ต่อไป

3. การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ

3.1 เรื่องเดิม

รัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ประสบปัญหาในการดำเนินงาน และมีผลขาดทุนต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะวิกฤต ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 รับทราบรายงานผลการประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี พ.ศ. 2551 ของรัฐวิสาหกิจภายใต้ระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 52 แห่ง และให้รัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินต่ำติดต่อกันหลายปี นำเสนอแผนปรับบทบาทหรือแผนพลิกฟื้นต่อ กนร. เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีการจัดทำแผนปรับบทบาทหรือแผนพลิกฟื้นฐานะทางการเงินจำนวนทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การเคหะแห่ชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) องค์การสวนสัตว์ องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (9) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (10) องค์การตลาด (11) องค์การคลังสินค้า (12) บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (13) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

3.2 มติที่ประชุม

กนร.รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจทั้ง 13 แห่ง และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ กนร. เร่งกำกับการจัดทำแผนพลิกฟื้นของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การเคหะแห่งชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อรายงานในการประชุม กนร.ต่อไป

4. โครงการให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการท่าเรือแหลมฉบัง

4.1 เรื่องเดิม

(1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เห็นชอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารและก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และเห็นชอบในหลักการให้เอกชนสามารถเข้าบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือในเขตท่าเรือแหลมฉบังได้

(2) ในปี 2552 ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าจำนวน 4.6 ล้านทีอียู และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.0 ล้านทีอียูในปี 2553 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มีการทำสัญญาให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้าบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือแล้วทั้งสิ้น 18 ท่า จำนวน 13 สัญญา (โดยเป็นสัญญาที่ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 จำนวน 3 สัญญา และเป็นสัญญาเช่าโดยตรงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับผู้ประกอบการเอกชน จำนวน 10 สัญญา) ดังนี้ 1) ท่าเทียบเรือชายฝั่งและท่าเอนกประสงค์ 1 ท่า (โครงการท่าเทียบเรือ AO) 2) ท่าเทียบเรือผู้โดยสารและท่าเรือส่งออกรถยนต์ 1 ท่า (โครงการท่าเทียบเรือ A1) 3) ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ (ตู้คอนเทนเนอร์) 3 ท่า (โครงการท่าเทียบเรือ A2,A3,C0) 4) ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป 1 ท่า (โครงการท่าเทียบเรือ A4) 5) ท่าเทียบเรือเฉพาะการส่งออกรถยนต์ 1 ท่า (โครงการท่าเทียบเรือ A5) 6) ท่าเทียบเรือตู้สินค่าคอนเทนเนอร์ 11 ท่า (โครงการท่าเทียบเรือ B1, B2,B3,B4, B5, C1, C2, C3, D1, D2, และ D3)

(3) ปัญหาในการกำกับดูแลการจัดการท่าเรือแหลมฉบัง

1) ความได้เปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชนในเขตท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่เท่าเทียมกันระหว่างสัญญาที่ทำขึ้น

2) ไม่มีการกระจายตัวของผู้ประกอบการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ได้รับอนุญาตให้บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์จำนวน 6 ท่า จากทั้งหมด 18 ท่า

3) ขาดศักยภาพในการให้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง ทำให้เรือลำเลียงตู้สินค้าต้องคอยเทียบท่าเป็นเวลานาน และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่บริษัท บางกอก โมเดิร์น เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือน A0 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยในคราวประชุมครั้งที่ 12/2547 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2547 ให้ขยายขอบเขตจากการประกอบการท่าเทียบเรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ เป็นท่าเทียบเรือชายฝั่งและเรือเอนกประสงค์ และบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าการให้บริการขนส่งสินค้าชายฝั่ง มีผลทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยขอลงทุนโครงการท่าเทียบเรือ A วงเงินลงทุนจำนวน 1,802.00 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างเป็นท่าเทียบเรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ

4.2 มติที่ประชุม

กนร.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการเพื่อนำเสนอ กนร. พิจารณา ดังนี้

(1) ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนในการดำเนินการตามกฎหมายของโครงการท่าเทียบเรือ จำนวน 10 โครงการ และหากพบว่าโครงการใดมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000.00 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ต่อไป

(2) พิจารณาถึงลักษณะการผูกขาดของสัญญาของบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาของบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ตลอดจนความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเอกชน

(3) ทบทวนความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการท่าเทียบเรือ A (ท่าเทียบเรือชายฝั่ง) ในกรณีการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดกับการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ