การรายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 14:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ และผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

ประจำปีงบประมาณ 2552 ณ วันที่ 30 กันยายน 2552

คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ และผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ และผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 ดังนี้

1. สถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2552

หนี้สาธารณะคงค้างของประเทศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,001,942.00 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.55 ของ GDP (ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2552 ประมาณการ GDP ปี 2552 เท่ากับ 8,786.29 พันล้านบาท) ประกอบด้วย

  • หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,586,513.18 ล้านบาท
  • หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,108,580.32 ล้านบาท
  • หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งรัฐบาลค้ำประกัน 208,702.02 ล้านบาท
  • หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 98,146.48 ล้านบาท

2. ภาพรวมของผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2552 กค. สามารถดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้ทั้งสิ้น 681,167.40 ล้านบาท ประกอบด้วยการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ 225,530.52 ล้านบาท การบริหารหนี้ทั้งในและต่างประเทศของรัฐบาล 266,621.69 ล้านบาท ซึ่งเป็นการ Roll-over ตั๋วเงินคงคลัง รวมทั้งการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF การกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 80,000.00 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการบริหารหนี้และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 109,015.19 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวสามารถลดยอดหนี้คงค้างลงจำนวน 40,101.43 ล้านบาท และสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ 1,206.68 ล้านบาท

นอกจากผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะอีกจำนวน 59,750 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 48,700 ล้านบาท การกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line จำนวน 11,050 ล้านบาท

3. รายละเอียดของผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2552

3.1 การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

กค. ดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้จำนวน 225,530.52 ล้านบาท

3.2 การบริหารหนี้ของรัฐบาล

3.2.1 การบริหารหนี้ในประเทศ

(1) กค. ออกตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารเงินสดเพื่อรองรับการทำธุรกรรมใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่ง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 มียอดวงเงินตั๋วเงินคลังหมุนเวียนในตลาด จำนวน 147,000 ล้านบาท โดยภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าวได้รวมการกู้เงินในรูปตั๋วเงินคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลซึ่งสะสมมาในช่วงปี 2542 — 2547 จำนวน 67,000 ล้านบาท และตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารดุลเงินสด จำนวน 80,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเดือน 6 หลังของปีงบประมาณ 2552 มีการแปลงตั๋วเงินคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลให้เป็นพันธบัตรรัฐบาลวงเงินรวม 19,000 ล้านบาท

(2) กค. ดำเนินการ Roll — over พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดไถ่ถอนวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการชำระหนี้

3.2.2 การบริหารหนี้ต่างประเทศ

กค. ดำเนินการชำระคืนหนี้เงินกู้ธนาคารพัฒนาเอเชีย 6 สัญญาก่อนครบกำหนด วงเงินเทียบเท่า 1,459.70 ล้านบาท โดยใช้งบชำระหนี้

3.3 การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF3

กค. ดำเนินการ Roll — over พันธบัตร FIDF3 (พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2545) ที่ครบกำหนดไถ่ถอน จำนวน 54,245.73 ล้านบาท โดยการกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน 2 แห่ง จำนวน 23,162 ล้านบาท สมทบกับการกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 3 แห่ง จำนวน 13,934.64 ล้านบาท และเงินทดรองจ่ายจากบัญชีเงินฝาก กค. จำนวน 11,065.36 ล้านบาท พร้อมทั้งได้มีการชำระคืนเงินต้นจากเงินในบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 6,083.73 ล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด จากนั้นออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ วงเงิน 25,000 ล้านบาท มาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและเงินจากบัญชีเงินฝากฯ นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ได้ดำเนินการชำระคืนเงินกู้ระยะยาวอีกส่วนหนึ่ง จำนวน 711.00 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมฯ อีกด้วย

อนึ่ง ในปีงบประมาณ 2552 ยังมีพันธบัตร FIDF3 ที่ครบกำหนดไถ่ถอนอีก 2 รุ่น วงเงินรวม 944.99 ล้านบาท ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดโดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แทนการ Roll — over ที่กำหนดไว้เดิม

3.4 การบริหารและจัดการเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552

กค. ดำเนินการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 80,000 ล้านบาท

3.5 การกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

3.5.1 เงินกู้เพื่อลงทุนในโครงการต่าง ๆ : รัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง ได้ทำสัญญาเพื่อกู้เงินและออกพันธบัตรวงเงินรวม 40,245.30 ล้านบาท

3.5.2 เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน : รัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง ได้ทำสัญญาเพื่อกู้เงินและออกพันธบัตรวงเงินรวม 40,622.56 ล้านบาท

3.6 การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

รัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ดำเนินการ Roll-over หนี้ที่ครบกำหนดชำระให้สอดคล้องกับระยะคืนทุนของโครงการ โดยการทำสัญญาเพื่อกู้เงินและการออกพันธบัตรวงเงินรวม 28,147.33 ล้านบาท

3.7 การกู้เงินและการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด

3.8 การกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line ของรัฐวิสาหกิจ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ