สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 14:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี งบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประมวลผลสถิติการร้องทุกข์ และผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วง ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1. การแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนจำแนกตามช่องทางการร้องทุกข์ 4 ช่องทางในไตรมาสที่ 2 ประชาชนได้ใช้บริการการร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 31,703 ครั้ง โดยเรียงตามลำดับจากช่องทางที่มีอัตราส่วนมากที่สุด ดังนี้

  • สายด่วนของรัฐบาล 1111 มากที่สุด ร้อยละ 80.38
  • เว็บไซต์ (www.1111.go.th) ร้อยละ 11.37
  • ตู้ ปณ. 1111 / ไปรษณีย์ / โทรสาร ร้อยละ 7.11
  • จุดบริการประชาชน 1111 ร้อยละ 1.14

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 1 พบว่า ถึงแม้ในไตรมาสที่ 2 มีจำนวนการใช้บริการการร้องทุกข์ลดลง จำนวน 4,782 ครั้ง แต่ประชาชนจะใช้ช่องทางการร้องทุกข์ทางสายด่วนของรัฐบาล 1111 มากที่สุดเหมือนกัน โดยมีค่าเฉลี่ยวันละมากกว่า 280 ครั้ง สำหรับการร้องทุกข์ในช่องทางอื่น ซึ่งเป็นการร้องทุกข์ที่มีความสลับซับซ้อนหรือมีรายละเอียดข้อเท็จจริง มีค่าเฉลี่ยมากกว่าวันละ 70 เรื่อง

2. เรื่องร้องทุกข์จำแนกตามประเภทเรื่องเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 1

ในไตรมาสที่ 2 ประชาชนร้องเรียนในประเภทเรื่องต่างๆ รวมทั้งสิ้น 22,455 เรื่อง โดยร้องทุกข์ประเภทเรื่องหลักด้านการเมือง — การปกครอง มากที่สุด ร้อยละ 46.64 ด้านสังคมและสวัสดิการ ร้อยละ 39.84 ด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.64

สำหรับ ประเภทเรื่องรองที่ประชาชนร้องทุกข์มากที่สุด ได้แก่ กล่าวโทษหรือร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 16.53 รองลงมาคือ สาธารณูปโภค ร้อยละ 15.54 และการเมืองและปัญหาความมั่นคง มีจำนวนเรื่องเท่ากัน ร้อยละ 9.94 ตามลำดับ

3. หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน

ในไตรมาสที่ 2 หน่วยงานต่าง ๆ ได้รับการประสานงานเรื่องราวร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 5,642 เรื่อง โดยหน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุดได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 22.30 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ กล่าวโทษหรือร้องเรียนข้าราชการตำรวจ ยาเสพติด และบ่อนการพนัน) รองลงมา คือ กระทรวงการคลัง ร้อยละ 16.91 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ หนี้สินนอกระบบ ผลกระทบจากนโยบายและโครงการของรัฐ และหนี้สินในระบบ) และกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 10.32 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา และปัญหาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ)

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารออมสิน (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ หนี้สินนอกระบบ การอนุมัติสินเชื่อ และผลกระทบจากโครงการและนโยบายของรัฐบาล) รองลงมาคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ผลกระทบจากโครงการและนโยบายรัฐบาลพืชผล และหนี้สินในระบบ) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ การบริการขนส่งทางบก การบริการสาธารณะ และกล่าวโทษหรือร้องเรียนพนักงานรัฐวิสาหกิจ)

4. เรื่องร้องทุกข์จำแนกตามรายภาคโดยเรียงลำดับจากมากที่สุดในไตรมาสที่ 2

ในไตรมาสที่ 2 ภาคที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุดได้แก่ ภาคตะวันออก ร้อยละ 32.68 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 23.97 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 16.87 ภาคเหนือ ร้อยละ 14.79 และภาคใต้ ร้อยละ 11.69 ตามลำดับ

5. จังหวัดที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน

ในไตรมาสที่ 2 จังหวัดต่าง ๆ ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 5,003 เรื่อง โดยจังหวัดที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 16.87 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญ ถนน กล่าวโทษหรือร้องเรียนข้าราชการพลเรือน) รองลงมา คือ จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยละ 5.40 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ผลกระทบจากโครงการและนโยบายของรัฐบาล ถนน และเหตุเดือดร้อนรำคาญ) และจังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 3.62 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญ ยาเสพติด และบ่อนการพนัน)

6. จากข้อมูลเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ประชาชนได้แจ้งเรื่องราวร้องทุกข์โดยรวมมีสถิติใกล้เคียงกับในไตรมาสที่ 1 ในปีงบประมาณดังกล่าว โดยในไตรมาสที่ 1 ประชาชนแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ในประเภทเรื่องหลักด้านสังคมและสวัสดิการมากที่สุด และประเภทเรื่องหลักด้านการเมือง — การปกครอง เป็นลำดับที่ 2 ส่วนในไตรมาสที่ 2 ประชาชนแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ในประเภทเรื่องหลักด้านการเมือง — การปกครองมากที่สุด และประเภทเรื่องหลักด้านสังคมและสวัสดิการ เป็นลำดับที่ 2 ซึ่งสาเหตุมาจากประเภทเรื่องรองด้านปัญหาความมั่นคงและด้านการเมืองรวมกันมีอัตราส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 จากจำนวน 563 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 4,462 เรื่อง โดยเนื้อหาของเรื่องราวร้องทุกข์เป็นเรื่องที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่จากกรณีปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จึงทำให้สถิติสูงขึ้น และมีข้อสังเกตว่าประเด็นปัญหาหนี้สินประชาชนได้แจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ลดลงอย่างมาก โดยในไตรมาสที่ 1 มีจำนวน 1,312 เรื่อง แต่ในไตรมาสที่ 2 มีจำนวนเรื่อง 495 เรื่อง ลดลงอัตราร้อยละ 62.27

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ