รายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย — กัมพูชา ครั้งที่ 6

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 15:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย — กัมพูชา ครั้งที่ 6 ตามที่กระทวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงกลาโหมได้เสนอผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย — กัมพูชา ครั้งที่ 6 เพื่อขอความเห็นชอบรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเสนอว่า

1. การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ โรงแรม อังกอร์ เซ็นจูรี่ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่าง 28-29 เมษายน 2552 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาเป็นประธานร่วม ซึ่งที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของความร่วมมือบริเวณชายแดน และพิจารณาเห็นชอบร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ 3 ด้าน 17 ประเด็น

2. ผลการประชุมดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ในประเด็นการอ้างสิทธิ์บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเดิมกำหนดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องในเดือนเมษายน 2552 แก้ไขเป็น ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ด้านเขตแดน

1.1 การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับเรื่องหลักเขตแดนที่สามารถสำรวจและค้นหาได้ จำนวน 48 หลัก จากจำนวน 73 หลัก รวมทั้งเห็นชอบที่จะแก้ปัญหาเขตแดนบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ไทยและกัมพูชาทำร่วมกันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543

1.2 การอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพบปะกันในโอกาสแรกเพื่อหารือรายละเอียดในเรื่องนี้ให้มีความคืบหน้า โดยจะสนับสนุนให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วมและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

1.3 จุดผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะต้องส่งเสริมให้การสัญจรข้ามแดนเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2540

2. ด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดน

2.1 ความร่วมมือด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานไทย-กัมพูชา ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งที่ 6

2.2 การป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด ที่ประชุมสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานประสานงานยาเสพติดชายแดน การจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ณ จังหวัดพระตะบอง ตลอดจนการส่งมอบเรือเร็วเพื่อใช้ปฏิบัติการปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติด

2.3 การป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมตามแนวชายแดนทุกรูปแบบ

2.4 ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การค้าอาวุธสงคราม รวมทั้งจะต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน

2.5 ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะกำหนดพื้นที่เร่งด่วนของการเก็บกู้ทุ่นระเบิด

2.6 การส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเล กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดจะร่วมกับกองทัพเรือและกองทัพภาคที่ 3 ของกัมพูชาในการเสริมสร้างมาตรการในการรักษาความปลอดภัยต่อเรือประมงของแต่ละประเทศ

2.7 การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยกับหน่วยทหารและตำรวจของกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายจะจัดให้มีการพบปะหารือ และพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับหน่วยงาน ด้านความมั่นคงของไทยกับผู้บังคับหน่วยทหารและตำรวจของกัมพูชา

3. ความร่วมมือด้านอื่น ๆ

3.1 ความร่วมมือด้านการค้าบริเวณชายแดน ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการจัดทำโครงการเกษตร แบบมีสัญญา

3.2 ความร่วมมือด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายจะสร้างเสริมและขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

3.3 ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ทั้งสองประเทศจะร่วมกันสนับสนุนให้มีการร่วมมือด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง

3.4 ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ที่ประชุมสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายปรึกษาหารือกันเพื่อสถาปนาความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

3.5 ความร่วมมือด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งสองประเทศจะบังคับใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจังในการรักษาสิ่งแวดล้อม และดำเนินการตามโครงการความร่วมมือเพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ ณ จุดผ่านแดนของทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือในการปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าไม้ในพื้นที่ชายแดน

3.6 ความร่วมมือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

3.7 ความร่วมมือด้านการบรรเทาสาธารณภัย ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันสร้างเสริมความพร้อมต่อโครงการที่จำเป็นในการบรรเทาสาธารณภัย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ