ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมระหว่าง

รัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. ได้เสนอผลการประชุมดังกล่าวตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

1.1 ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (regional architecture)

1.2 ที่ประชุมได้รับรองโครงการ/กิจกรรมของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Inter-Governmental Commission on Human Rights: AICHR)

1.3 ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานด้านกฎหมายอาเซียนในการยกร่างเอกสารด้านกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับกฎบัตรอาเซียน

1.4 ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการยกร่างแผนแม่บทว่าด้วยการเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาค

1.5 รัฐมนตรีต่างระเทศพม่าได้รายงานความคืบหน้าในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยกำลังดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนพรรคการเมืองและคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จก็จะสามารถประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปได้ ทั้งนี้ อาเซียนได้แสดงความประสงค์ที่จะเห็นการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าที่เสรี บริสุทธิ์ยุติธรรม และมีทุกฝ่ายเข้าร่วมโดยย้ำว่าการเลือกตั้งดังกล่าวจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพม่าและอาเซียนโดยรวม จึงหวังว่าพม่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากอาเซียน โดยเฉพาะการส่งคนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ

1.6 ที่ประชุมรับทราบผลสำเร็จในการดำเนินงานของคณะทำงานสามฝ่าย

1.7 ที่ประชุมเห็นควรผลักดันให้อาเซียนได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอด G20 อย่างถาวร โดยเลขาธิการอาเซียนย้ำว่าหากอาเซียนไม่มีบทบาทอย่างแข็งขันในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อ G20 และไม่เร่งสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอาเซียนอาจไม่ได้รับเชิญต่อไปในอนาคต

1.8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการสร้างประชาคมอาเซียนโดยเสนอให้พิจารณาจัดการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคประชาสังคมในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนโดยอาจคัดเลือกเฉพาะองค์กรเอกชนที่ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมแยกออกจากลุ่มองค์กรเอกชนทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้นำบางประเทศ ซึ่งอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2554 สนับสนุนและอาเซียนรับที่จะพัฒนาแนวคิดนี้ต่อไป

2. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

2.1 ที่ประชุมเน้นความร่วมมือในการสร้างประชาคมอาเซียนและลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก การเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาคความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ พลังงาน และการต่อต้านการก่อการร้าย

2.2 ในการหารือกับประเทศเจรจาอื่น ๆ (แคนาดา สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) สรุปได้ดังนี้

  • แคนาดาเน้นความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างในการพัฒนาและสิทธิมนุษยชน โดยที่ประชุมได้รับรองร่างแผนปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา
  • สหรัฐอเมริกาเน้นประเด็นด้านการเมือง ความมั่นคง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค
  • จีนเน้นการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการค้า-การลงทุน ความมั่นคงโดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ การเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาค และการเตรียมการสำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ในปี 2554
  • รัสเซียเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือผ่านศูนย์อาเซียนที่กรุงมอสโก
  • ญี่ปุ่นยืนยันความต่อเนื่องในเชิงนโยบายที่จะสนับสนุนอาเซียน โดยเฉพาะการรวมตัวของอาเซียนผ่านกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF) ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเส้นทางที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน (missing link) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงในภูมิภาค
  • เกาหลีใต้เห็นชอบให้ยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ การส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการวางเป้าหมายในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Low Carbon Green Growth)
  • สหภาพยุโรปส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรวมตัวเป็นประชาคม
  • อินเดียผลักดันความร่วมมือในลักษณะรอบด้านโดยได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย ระหว่างปี 2553-2558 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 8 รับรองในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ทั้งนี้อินเดียยืนยันสนับสนุนการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนโดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางสามฝ่าย ไทย-พม่า-อินเดีย และส่วนต่อขยายไปยังลาวและกัมพูชา รวมทั้งเส้นทางหลวงสายใหม่ระหว่างอินเดีย-พม่า-ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเส้นทางเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย
  • ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
  • นิวซีแลนด์เน้นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ การพัฒนาพลังงานสะอาด การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และได้รับรองแผนปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติตามร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ ปี 2553- 2558

2.3 ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเพิ่มเติมในช่วงก่อนหรือหลังการประชุม East Asia Summit (EAS) ในเดือนตุลาคม 2553 จำนวน 3 การประชุม

2.4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและประเทศที่เป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนามในพิธีสารฉบับที่ 3 แก้ไขสนธิสัญญาฯ เพื่อให้สหภาพยุโรปสามารถเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ตุรกีและแคนาดาได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ แต่ยังไม่ได้ลงนามในพิธีสาร ฉบับที่ 3 เนื่องจากทั้งสองประเทศยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์

2.5 นอกจากนี้ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง 2 การประชุม คือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ 2

3. การประชุม ASEAN Regional Forum (ARF)

  • ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางในเรื่องคาบสมุทรเกาหลีและทะเลีจีนใต้
  • ในส่วนของทะเลจีนใต้ (South China Sea : SCS) หลายประเทศโดยเฉพาะเวียดนาม สหรัฐอเมริกา รวมถึงบางประเทศที่ไม่เคยกล่าวถ้อยแถลงเรื่อง SCS มาก่อนได้แสดงความเห็นเรื่อง SCS
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำว่าควรมีความโปร่งใสและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจึงเสนอให้ (1) หลีกเลี่ยงการส่งเรือคุ้มกันเรือประมงที่จับปลาในภูมิภาค (2) ให้รวบรวมข้อมูลกิจกรรมทางด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและกิจกรรมต่าง ๆ ไว้กับ ARF Unit ของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้นจาก ARF และ (3) ให้ผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เช่นประธานาธิบดีติมอร์ เลสเต พิจารณาเยือนฟิจิเพื่อโน้มน้าวให้ผู้นำทหารนำประเทศกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่าการกดดันโดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

4. การหารือทวิภาคี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศต่างๆ รวม 7 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีเหนือ นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป รวมทั้งได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามในระหว่างการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาไทย-เวียดนาม

5. ข้อสังเกตและข้อมูลเพิ่มเติม

  • ในภาพรวมการประชุมดำเนินไปภายใต้เจตนารมณ์ของความร่วมมือโดยประเทศสมาชิก อาเซียนได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความพยายามขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องร่วมกัน แก้ไขปัญหาเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคโดยรวม ทั้งนี้ บรรยากาศแห่งความร่วมมือดังกล่าวได้นำไปสู่การหารืออย่างสร้างสรรค์ในการประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในทุกกรอบด้วย
  • การเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเรื่องการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้ และประเทศคู่เจรจาหลายประเทศ เช่น จีนและญี่ปุ่นได้แสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาทำเลที่ตั้งของไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคแล้ว หากสามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศในภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์ก็จะเอื้อประโยชน์แก่ไทย ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการติดต่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลักลอบค้ามนุษย์ ปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่ง กต. จักได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • ท่าทีของสหรัฐอเมริกามีส่วนช่วยให้อาเซียนสามารถหาข้อยุติในประเด็นเรื่องบทบาทของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมเห็นชอบตามแนวคิดของไทยในเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเวที EAS

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ