การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 15:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้งบประมาณในส่วนงบกลางเพื่อการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ และดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สภาพปัญหา ขีดความสามารถในการดึงดูดและรักษาคนเก่งคนดีในราชการลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการต่ำกว่าภาคเอกชน การขาดความยืดหยุ่น และความหลากหลายของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุประกอบกับการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและขีดความสามารถในการสรรหาของสถานประกอบการขนาดใหญ่

2. ข้อเท็จจริง

2.1 ขีดความสามารถในการดึงดูดคนเก่งเข้ารับราชการลดลง ดังจะเห็นได้จากผู้สมัครสอบภาค ก มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และมีงานทำอยู่ในขณะที่สมัครสอบโดยครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเอกชน อีกครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการที่สมัครสอบเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง และมีเพียงร้อยละ 5 ของผู้สมัครสอบที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูง

2.2 อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการต่ำกว่าภาคเอกชนมาก โดยเฉพาะในสายงานที่บรรจุจากผู้มีวุฒิระดับปริญญา

2.3 เมื่อเทียบเงินเดือนแรกบรรจุกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของภาคราชการแล้ว ค่าตอบแทนแรกบรรจุของภาคราชการก็ยังต่ำกว่าภาคเอกชน ยกเว้นค่าตอบแทนของผู้บรรจุในสายงานที่ใช้วุฒิต่ำกว่าปริญญาในสาขาพาณิชย์

2.4 อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคเอกชนมีความยืดหยุ่นและความหลากหลายมากกว่า โดยพิจารณาจากสถาบันการศึกษา สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และคุณสมบัติของบุคคล ในขณะที่ภาคราชการจ่ายเป็นอัตราเดียวสำหรับแต่ละระดับการศึกษา

2.5 ความถี่ในการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการมีน้อย โดยเฉลี่ยปรับ 3 ปี 8 เดือนต่อครั้ง ในขณะที่ภาคเอกชน หรืออัตราค่าแรงขั้นต่ำจะมีการปรับเฉลี่ยทุกปี

2.6 ขีดความสามารถในการดึงดูดและรักษาคนเก่งคนดีในราชการมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและขีดความสามารถของคู่แข่งการสรรหา จำนวนสถานประกอบการขนาดใหญ่ระหว่างปี 2507 และ 2550 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 114 แห่ง นอกจากนี้ จำนวนและขีดความสามารถของคู่แข่งการสรรหาจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเข้ามาแข่งขันในตลาดแรงงานของสถานประกอบการต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนตามผลของกฎบัตรอาเซียน

2.7 แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ภาคราชการได้มีการแก้ไขปัญหาเงินเดือนที่ไม่เพียงพอต่อการครองชีพของข้าราชการที่บรรจุใหม่รวมทั้งผู้ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 11,700 บาท โดยกำหนดให้ได้รับเงินค่าครองชีพ

3. ข้อเสนอ

3.1 วัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาคนเก่งคนดีไว้ในราชการ โดยการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุให้สูงขึ้น เพิ่มความถี่ในการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และเพิ่มความยืดหยุ่นหลากหลายในการสั่งให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนแรกบรรจุ

3.2 เป้าหมาย ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชนภายใน 5 ปี และนำระบบเงินเดือนแรกบรรจุที่ยืดหยุ่น หลากหลาย มาใช้ภายในปีงบประมาณ 2554

3.3 แนวทางดำเนินการ

(1) เพิ่มความถี่ในการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยให้สำนักงาน ก.พ.จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกปี และเมื่ออัตราเงินเดือนแรกบรรจุใกล้เคียงกับภาคเอกชนแล้ว ให้ศึกษาเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนแรกบรรจุระหว่างภาคราชการและเอกชน หากเห็นสมควรปรับ ให้เสนอ ก.พ.พิจารณา

(2) ในชั้นต้นให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำให้สูงขึ้น โดยลดความแตกต่างของ ภาคราชการและภาคเอกชนลงประมาณครึ่งหนึ่งของความแตกต่างเดิม

(3) กำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุแบบเป็นช่วงโดยให้อัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำและขั้นสูงมีช่วงกว้างไม่เกินร้อยละ 10

(4) มอบอำนาจให้ส่วนราชการพิจารณาสั่งให้ผู้บรรจุเข้ารับราชการได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำและไม่สูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นสูงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.กำหนด

(5) ให้สำนักงาน ก.พ. ตรวจสอบและรายงาน ก.พ.ในกรณีที่ส่วนราชการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไม่สอดคล้องกับแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการที่ ก.พ.กำหนด เพื่อ ก.พ.จะได้พิจารณาสั่งระงับการให้อำนาจส่วนราชการพิจารณาสั่งให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำ

(6) ให้สำนักงาน ก.พ.นำเสนอ ก.พ.พิจารณา

ผลการสำรวจอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการกับภาคเอกชนเป็นรายปีในกรณีที่สำนักงาน ก.พ.เห็นควรให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุก็ให้เสนอ ก.พ.พิจารณา

ผลการศึกษาการนำระบบเงินเดือนแรกบรรจุแบบช่วงมาใช้ในราชการ

3.4 หลักเกณฑ์ วิธีการ

(1) ให้ อ.ก.พ.กระทรวง หรือ อ.ก.พ.กรม ที่ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการสั่งให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนภายในช่วงอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยพิจารณาจากปัจจัยตามที่ ก.พ.กำหนด

(2) ให้ อ.ก.พ.กระทรวง หรือ อ.ก.พ.กรม ที่ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวง เสนอหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามข้อ (1) เพื่อ ก.พ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

(3) ให้ส่วนราชการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาสั่งให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนแรกบรรจุตามข้อ (1) ที่ผ่านการพิจารณาของ ก.พ.แล้ว

3.5 ให้มีการปรับเงินเดือนเพื่อชดเชยข้าราชการผู้ได้รับผลกระทบ โดยกำหนดอัตราเงินชดเชยแปรผันกลับกับช่วงเงินเดือน และเงินชดเชยที่ได้รับเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้ว จะต้องไม่สูงกว่าเงินเดือนสูงสุดที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละช่วง เพื่อมิให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่าก่อนมีการชดเชย กลายเป็นได้รับเงินเดือนต่ำกว่าหลังจากการได้รับเงินชดเชย

3.6 งบประมาณ สำหรับการปรับเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับเงินเดือนเพื่อผู้ได้รับผลกระทบ ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

3.7 การมีผลใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และกำหนดบทเฉพาะกาลให้เงินเดือนแรกบรรจุแบบช่วง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ