คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 มติ 6 โรคติดต่ออุบัติใหม่ ตามมติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. มอบหมายให้ “คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันควบคุม และแก้ไขสถานการณ์ โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ และโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์” ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 111/2553 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เป็นกลไกดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 โดยขอให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 โรคติดต่ออุบัติใหม่ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ ทั้งเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการ บทบาทการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการภายในระยะเวลา 1 ปี และการจัดทำข้อเสนอจัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อจัดการแก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมต่อไป ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่เสนอ
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดระบาดใหญ่ และโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่าจากการประชุม คสช.ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ได้พิจารณามติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2552 ตามบทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในมติ เรื่อง “โรคติดต่ออุบัติใหม่” ซึ่งภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้พิจารณาเอกสารรายงานและร่างมติในระเบียบวาระดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจสช.) เสนอ ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเฉพาะประเด็นที่ คจสช.โดยอนุกรรมการวิชาการแต่งตั้ง ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยบุคลากรหลายภาคส่วน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานการณ์และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
โรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญและอาจกลายเป็นสาธารณภัยที่คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพ ชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N12009 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั่วโลก และหากประเทศไทยไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง
องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) ว่าหมายถึง โรคติดต่อเชื้อชนิดใหม่ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่เกิดการดื้อยา โดยจัดกลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่ไว้ 5 กลุ่มด้วยกันคือ
1.1 โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious diseases)เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009 ไข้สมองอักเสบนิปาห์ไวรัส
1.2 โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) เป็นโรคที่มาจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง หรือข้ามทวีป เช่น โรคเวสต์ไนล์ไวรัส
1.3 โรคติดต่ออุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious diseases) คือโรคติดต่อที่เคยระบาดในอดีตและสงบไปนานแล้วแต่กลับมาระบาดอีก เช่น ไข้ชิคุนกุนยา
1.4 เชื้อโรคดื้อยา (Antimicrobial resistant organism) เช่น วัณโรคดื้อยา
1.5 อาวุธชีวภาพ (Deliberate use of bio-weapons) โดยการใช้เชื้อโรคหลายชนิดผลิตเป็นอาวุธ เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ ไข้ทรพิษ
ทั้งนี้ การรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและปัญหาอุปสรรคมากกว่า
โรคติดต่อทั่วไป เนื่องจากมีความจำเพาะหลายประการ เช่น ธรรมชาติของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่มักไม่สามารถคาดการณ์ขนาดปัญหาและช่วงเวลาเกิดโรคได้ส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมและประสิทธิภาพในการรับมือ นอกจากนี้ ความรู้และข้อมูลข่าวสารของปัญหามักจะยังไม่ชัดเจนในระยะต้น จึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ง่าย อย่างไรก็ตามการจัดการปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีประสิทธิภาพต้องยึดหลักการความโปร่งใสของข้อมูลและให้ความสำคัญต่อสุขภาพประชาชนเป็นที่ตั้งเหนือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทยการบริหารจัดการปัญหายังขาดการบูรณาการและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ และยังขาดศูนย์ระดับชาติเพื่อจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมรักษา และรับมือกับปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารสาธารณะในเรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่ยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในระดับชาติที่ชัดเจน ที่ผ่านมามีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เกี่ยวข้องได้แก่
1) แผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก พ.ศ. 2548-2550
2) แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ (พ.ศ.2548-2550)
3) แผนยุทธศาสตร์ ป้องกัน แก้ไขและเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) ที่ สธ. กษ. ทส. มท. ร่วมดำเนินการในลักษณะแผนการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีลักษณะการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการเป็นสำคัญ ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นภาคีสำคัญในการร่วมจัดการปัญหา เช่น การเตรียมความพร้อมโดยร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการร่วมเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคที่เกิดขึ้นผิดปกติในพื้นที่ เผยแพร่ความรู้เรื่องโรค การป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง การมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ประกอบการและภาคธุรกิจอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสื่อสารสาธารณะที่จำเป็นต้องมีการกำหนดแผนงานและผู้รับผิดชอบ ข้อมูลข่าวสารและกลวิธีในการส่งสารไปยังสาธารณะไว้ล่วงหน้า และดำเนินได้ในทันทีที่มีโรคติดต่ออุบัติใหม่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเชื่อถือและ เชื่อมั่นให้กับประชาชน
2. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2
ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ดังต่อไปนี้
2.1 ขอให้ คสช.เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ระดับชาติ โดยให้มีองค์ประกอบครบถ้วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. สปสช. มท. กษ. ทส. วท. อก. ศธ. กห. รง. พม. สำนักนายกรัฐมนตรี คค. ตช. รวมทั้งภาครัฐอื่น ๆ ภาคเอกชน หน่วยงานวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยให้ สธ. และ มท. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ ต้องประกอบด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่
- การพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาชน
- การเตรียมความพร้อมในด้านงบประมาณ เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์และในคน ในระดับประเทศ จังหวัดและท้องถิ่น
- การสื่อสารสาธารณะต้องเสนอข้อเท็จจริง ไม่ปิดปังและให้ความเข้าใจอย่างถูกต้องทั้งระดับชาติและระดับชุมชนในการรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่
- การสร้างจิตสำนึกในการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่
- การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิกฤตที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดต่ออุบัติใหม่
- การวิจัย การจัดการความรู้ การจัดทำฐานข้อมูลและประสานการเข้าถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับวิชาการและปฏิบัติการ
- การค้นหาและการตรวจสอบ เพื่อการรับมือกับอาวุธชีวภาพ
- การทบทวนปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย
- การจัดการสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และการควบคุมสัตว์จรจัด เช่น สุนัข แมว เป็นต้น
- พัฒนาการจัดการด้านสุขาภิบาล การเฝ้าระวังและควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ
2.2 ขอให้คณะกรรมการในข้อ 2.1จัดทำข้อเสนอในการจัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อจัดการแก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม รวมทั้งดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการในข้อ 2.1 โดยเป็นกลไกที่มีอำนาจสั่งการในภาวะ ฉุกเฉินเมื่อเกิดการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ 2.3 ขอให้คณะกรรมการในข้อ 2.1เสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ และข้อเสนอกลไกในข้อ 2.2 ต่อ คสช. เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4
3. การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องสำคัญภายหลังมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 จากการประชุมร่วมของคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค และ สช. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ได้ข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องว่า
3.1 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 111/2553 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ และโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์ มีรองนายกรัฐมนตรี (ที่ได้รับมอบหมาย) เป็นประธานกรรมการ มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ที่ได้รับมอบหมาย) อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
3.2 คณะกรรมการตามข้อ 3.1 ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่
3.2.1 กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ในการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ และโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์
3.2.2 อำนวยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ตลอดจนการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำกับและติดตามผลการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
3.2.3 อำนวยการควบคุมและแก้ไขสถานการณ์การระบาดในภาวะวิกฤต กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ
3.2.4 กำหนดกรอบนโยบายในการประสานสนับสนุนความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และการให้ความร่วมมือตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศตามพันธะสัญญา
3.2.5 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลตามความจำเป็นเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
3.2.6 ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
3.3 คณะกรรมการตามข้อ 3.1 ดังกล่าว มีจำนวน 68 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3 คน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 44 คน ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสถาบันวิชาการ 16 คน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน (กทม.) ผู้แทนหน่วยงานอิสระ 1 คน (สสส.) ผู้แทนสมาคมธุรกิจเอกชน 2 คน
เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 เรื่อง โรคติดต่ออุบัติใหม่ พบว่ามีความซ้อนทันกันในเชิงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระดับชาติ ขณะเดียวกันโครงสร้างของคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ และโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์ พบว่า แม้จะมีกรรมการจำนวนมากแต่โดยส่วนใหญ่เป็นผู้แทนหน่วยงานภาครัฐขาดองค์ประกอบทั้งของผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชน
ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนของการเสนอตั้งโครงสร้างกรรมการระดับชาติ แต่สามารถดำเนินการให้บรรลุข้อเสนอตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 จึงเห็นควรเสนอให้ “คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ และโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์” เป็นกลไกดำเนินงาน โดยเสนอให้พิจารณาแนวทางตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 เพื่อสร้างกลไกและแผนยุทธศาสตร์ที่มีความยั่งยืนในการปฏิบัติงาน โดยเสนอแนะให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวนำมติจากสมัชชา สุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--