ร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งยูเครนและสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 15:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งยูเครนและสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดปรับแก้ ถ้อยคำในร่างความตกลงฯ ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) รายงานว่า

1. อส. แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งยูเครนได้เจรจาและพิจารณาร่วมกันจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งยูเครนและสำนักงานอัยการสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง อส. ได้ส่งร่างความตกลงฯ ดังกล่าว ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 (เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตกลงเมือง พี่เมืองน้อง และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของไทยกับต่างประเทศ) ที่กำหนดให้ความตกลงในรูปแบบใดที่กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมจะจัดทำกับหน่วยงานของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการจัดทำความสัมพันธ์ในระดับหน่วยงานกันเอง ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องส่งเรื่องให้ กต. พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

2. กต. แจ้งว่า

2.1 ได้แก้ไขร่างความตกลงฯ ฉบับภาษาไทยในด้านถ้อยคำแล้ว

2.2 โดยที่สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ นี้เป็นเรื่องความร่วมมือและความช่วยเหลือในภารกิจงานอัยการ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ควรเสนอร่างความตกลงฯ ที่ทั้งฝ่ายไทยและยูเครนเห็นชอบร่วมกันแล้ว (final agreed text) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีมีมติว่าร่างความตกลงฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ขอให้ส่งไปยังรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

2.3 ในส่วนของ กต. มีความเห็นว่าโดยที่สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นเรื่องความร่วมมือและความช่วยเหลือในภารกิจงานอัยการ จึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม ดังนั้น หากส่วนราชการเจ้าของเรื่องสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ร่างความตกลงฯ ก็ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

2.4 ในร่างความตกลงฯ ภาษาอังกฤษที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบแล้ว กต. เห็นว่ามีบางส่วนที่อาจปรับให้ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ ดังนี้

2.4.1 วรรค 3 ของอารัมภบทควรย้ายคำว่า “each” จากหลังคำว่า “for” ไปอยู่ระหว่าง คำว่า “of” และ “state”

2.4.2 ข้อ 7 ควรเพิ่ม “s” ต่อท้ายคำว่า “month”

3. อส. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างความตกลงฯ ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เป็นกรณีความร่วมมือและความช่วยเหลือในภารกิจงานเกี่ยวกับด้านคดีต่างๆ ระหว่างกันของอัยการทั้งสองประเทศ ไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ความตกลงฯ ดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา สอดคล้องกับความเห็นของ กต.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ