เรื่อง แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ที่จะได้รับการอนุมัติ
ในการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเอกสารจำนวน 6 ฉบับ ดังกล่าว เพื่อให้รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของไทย (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ได้อนุมัติในการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ในวันที่ 20 สิงหาคม 2553
2. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีฯ ได้ในกรณีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ในการหารือในการประชุมคณะทำงานเพื่อปรับปรุงร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 18 สิงหาคม 2553 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในวันที่ 19 สิงหาคม 2553
สาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ที่จะได้รับการอนุมัติในการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16
1. การประเมินผลการดำเนินงานของแผนงาน GMS ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (2551—2555) นั้นถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยสาขาที่มีความก้าวหน้า ได้แก่
1.1. ด้านคมนาคมขนส่ง มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมตามแนวตะวันออก-ตะวันตก เหนือ-ใต้ และแนวตอนใต้ และได้รับการขยายเป็น 9 แนวโครงข่ายคมนาคมขนส่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสาขาคมนาคมปี 2549-2558 ไว้ในแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของแต่ละประเทศ รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนในการขยายความร่วมมือสู่การคมนาคมขนส่งด้านอื่นๆ โดยที่ประชุมได้อนุมัติกรอบยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
1.2 ด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง ที่ประชุมได้อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน เพื่อพัฒนาแนวโครงข่ายเส้นทางคมนาคมให้เป็นแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค (Cross Border Transport Agreement: CBTA) โดยแผนปฏิบัติการมุ่งเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจร ระบบศุลกากรผ่านแดน ปรับปรุงกระบวนการและการประสานการบริหารจัดการ ณ ด่านพรมแดน และสร้างความเข้มแข็งของประเทศ GMS ในเรื่องความร่วมมือด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard: SPS)
1.3 ที่ประชุมได้พิจารณาผลการประชุมของเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด (Economic Corridors Forum) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2552 ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานแบบหลากหลายสาขาในการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค ทั้งนี้ สภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Business Forum) จะต้องเสริมสร้างบทบาทในการนำเสนอมุมมองและความสนใจของหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมท้องถิ่นในประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ
1.4 ด้านพลังงาน ที่ประชุมอนุมัติโครงการใหม่เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เชื้อเพลิงสะอาด และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางพลังงานโดยการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศและมาตรการการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการอาศัยแหล่งพลังงานสะอาดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศลุ่ม แม่น้ำโขง
1.5 ด้านโทรคมนาคม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายและศักยภาพเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบโครงการโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศของอนุภูมิภาค (GMS Information Superhighway Network (ISN) โดยที่ประชุมมีความยินดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโทรคมนาคม 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเป็นเวทีหารือและดำเนินการความร่วมมือนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
1.6 ด้านเกษตร ที่ประชุมอนุมัติแผนสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ซึ่งมีทิศทางกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านการขยายการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนของผลิตผลทางการเกษตร การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
1.7 ด้านการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขงได้รับรางวัล Gold Award for Responsible Tourism Guide to the Mekong จากสมาคมท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค โดยเน้นการท่องเที่ยวตามแนวทางการพัฒนายั่งยืน ป้องกันและลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้อนุภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเดียว
1.8 ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการศึกษา แรงงาน สาธารณสุข และการพัฒนาสังคม แผนงานพนมเปญได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องถึงระยะที่ 4 เพื่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภาครัฐและการศึกษาวิจัยร่วมกัน
1.9 ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมอนุมัติแผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 (ปี 2555-2559) ซึ่งครอบคลุมด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานและบุคลากรในการจัดการสิ่งแวดล้อม
2. การมุ่งสู่กรอบยุทธศาสตร์ระยะยาวใหม่ของแผนงาน GMS
2.1 GMS จำเป็นต้องเตรียมการยกร่างกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาฉบับใหม่ เนื่องจากกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเดิมจะครบกำหนดในปี 2555 โดย GMS จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทของโลกและภูมิภาค เช่น เรื่องอิทธิพลของการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การผลิต การตลาด และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารข้ามพรมแดนที่เพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมให้เกิด Factory of Asia ความสอดคล้องกับการพัฒนาในกรอบ ASEAN มากขึ้น และสร้างโอกาสทางการค้าเชื่อมโยงระหว่างจีน อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น และเร่งการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนกระบวนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
2.2 วิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบสำคัญต่อภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันได้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ความท้าทายใหม่คือการรักษาการเติบโตนี้ไว้อย่างยั่งยืน โดย GMS จะต้องให้ความสำคัญกับตลาดในอนุภูมิภาคควบคู่กับการส่งออกไปตลาดภายนอก ดังนั้น จึงควรผลักดันการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนให้เป็นรูปธรรม พัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมือง พัฒนาโลจิสติกส์เชื่อมโยง และ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ความหลากหลายเชิงนิเวศ รวมถึง GMS ต้องประสานความร่วมมือในกรอบ GMS เข้ากับเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค
2.3 ความร่วมมือในกรอบ GMS ต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ การเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ การอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากร ทั้งภายในประเทศ (ชนบทสู่เมือง) และระหว่างประเทศในลักษณะข้ามพรมแดน การส่งเงินคืนถิ่นของแรงงาน การบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและอนุภูมิภาค
2.4 ประเด็นท้าทายเร่งด่วนที่ควรได้รับการพิจารณาส่งเสริมความร่วมมือในระยะปานกลาง ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความเพียงพอด้านพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้ เช่น ในเรื่องการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ผ่านคณะทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน และควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับกรอบอื่นๆ ด้วย
2.5 GMS จะยังคงขยายความร่วมมือกับองค์กรและประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนา โดยจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านบทบาทและประเด็นที่ให้ความสำคัญของภาคีการพัฒนา และแหล่งทุนเกิดใหม่และการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง
3. บทสรุป ที่ผ่านมา GMS มีผลงานที่ชัดเจนในการเชื่อมต่อทางกายภาพอย่างโดดเด่นในลำดับต้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา GMS ยังมีความก้าวหน้าในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการค้าและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นในทศวรรษใหม่ที่จะมาถึง GMS จะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการตอบสนองต่อประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความพยายามต่อเนื่องในการพัฒนาด้านซอฟท์แวร์ โดย GMS มีความมั่นใจจากความร่วมมือ และกรอบกลยุทธ์แนวทางการดำเนินงานความร่วมมือ ที่จะเอาชนะประเด็นท้าทายต่างๆ ได้ สุดท้ายขอขอบคุณรัฐบาลเวียดนามและ ADB ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม
เอกสารจำนวน 6 ฉบับ ที่จะได้รับการอนุมัติในการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเอกสารทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานสาขาที่เกี่ยวข้อง และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว โดยเอกสาร 6 ฉบับดังกล่าวมี ดังนี้
1) กรอบยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2) แผนปฏิบัติการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน
3) ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเชื้อเพลิงสะอาดและประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน
4) แผนสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร (2554 — 2558)
5) แผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อมระยะที่ 2 (2555 — 2559)
6) ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--