สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 15:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการรับรองปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยไม่มีการลงนาม และใช้เป็นกรอบการดำเนินงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก และสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประเทศสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่าได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (13 กรกฎาคม 2553) แล้ว ซึ่งผลการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 ณ เกาะเจจู สาธารณรัฐเกาหลี มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนระดับสูงของกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมและกระทรวงด้านสาธารณสุขของ 14 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศมองโกเลีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ยกเว้นเนการาบรูไนดารุสซาลามไม่มีผู้แทนเข้าร่วมประชุมฯ โดยสาระของรายงานผลการประชุมฯ ประกอบด้วย

1.1 แผนการดำเนินงานด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือแผนอื่นที่เทียบเท่าของแต่ละประเทศ

1.2 ผลและแผนการดำเนินงานความร่วมมือด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคใน 6 สาขา ได้แก่

1.2.1 คุณภาพอากาศ (Thematic Working Group on Air Quality) (ประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธานร่วมกัน)

1.2.2 น้ำสะอาด สุขอนามัย และการสุขาภิบาล (Thematic Working Group on Water Supply, Hygiene and Sanitation) (สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธาน)

1.2.3 ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย (Thematic Working Group on Solid and Hazardous Waste) (ประเทศญี่ปุ่น เป็นประธาน)

1.2.4 สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย (Thematic Working Group on Toxic Chemicals and Hazardous Substances) (ประเทศไทย โดยกรมอนามัย เป็นประธาน)

1.2.5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดลงของชั้นโอโซน และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ (Thematic Working Group on Climate Change, Ozone Depletion and Ecosystem Changes) (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธาน)

1.2.6 การวางแผนรองรับภาวะฉุกเฉินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Thematic Working Group on Preparedness and Response in Environmental Health Emergency) (สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นประธาน)

1.3 เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task force) เพื่อทบทวนประเด็นขององค์กรที่มีผลต่อ Forum และเสนอแนะต่อคณะกรรมการที่ปรึกษา(Advisory Board) เพื่อพิจารณาทบทวนการดำเนินงานของ Forum และความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และขอให้คณะกรรมการที่ปรึกษาพิจารณาข้อกำหนดเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะกิจ

1.4 ให้มีการบูรณาการแผนและการดำเนินงานระหว่างคณะทำงานวิชาการในระดับภูมิภาค

1.5 สร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานวิชาการระดับภูมิภาค โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก

1.6 เห็นชอบในหลักการให้มีการหมุนเวียนการเป็นประธานคณะทำงานวิชาการระดับภูมิภาค โดยจะหารือรายละเอียดในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา ครั้งที่ 4

1.7 ต้องการให้มีการสนับสนุนเงินทุนอย่างยั่งยืน

2. ที่ประชุมให้ความเห็นชอบต่อแผนงานของคณะทำงานวิชาการระดับภูมิภาคในปี ค.ศ. 2010- 2013 ของคณะทำงาน 6 สาขา และเห็นชอบให้มีการเพิ่มคณะทำงานใหม่ในสาขาที่ 7 การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) โดยมีสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประธาน และเห็นชอบแผนงานในปี ค.ศ. 2010 — 2013 ของ คณะทำงานสาขาที่ 7

3. รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐมนตรีด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศกล่าวแถลงการณ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวแถลงการณ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขของประเทศไทย ประกอบด้วย ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาภาวะโลกร้อน การจัดการทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงระบบสุขาภิบาลของโรงพยาบาล และห้องน้ำสาธารณะของประเทศไทย

4. ที่ประชุมรับรองปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยได้มีการปรับแก้ไข เพิ่มเติม จากร่างปฏิญญาเจจูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามความเห็นของที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

4.1 การให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน รวมทั้งการมีสุขภาพดีของเด็ก

4.2 การเปลี่ยนแปลงชื่อคณะทำงานวิชาการระดับภูมิภาคจากสาขาน้ำสะอาดสุขอนามัย และการสุขาภิบาลเป็น สาขาน้ำสะอาด การสุขาภิบาลและสุขอนามัย

4.3 เสนอให้ Forum ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเป็นเวทีหลักที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกสาขา เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

4.4 การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาให้มีการพิจารณาทบทวนปรับปรุงประเด็นการดำเนินงานและการร่วมเป็นภาคีของประเทศสมาชิกที่ส่งผลต่อ Forum และเพื่อให้การทำงานมีความสมบูรณ์ โดยการให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการที่ปรึกษา

4.5 ให้สมาชิกของ Forum พิจารณาสร้างกลไกที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่จะให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการดำเนินงานของ Forum

5. ประเทศมาเลเซียเสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกครั้งที่ 3 ณ ประเทศมาเลเซีย ในปี ค.ศ. 2013

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ