การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า กต.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง (Asia-Middle East Dialogue - AMED) ครั้งที่ 3หรือ AMED III ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ภูมิหลัง

กรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง หรือ AMED ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ด้วยความริเริ่มของนายโก๊ะ จ๊ก ตง (ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์) ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น ในสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงประสงค์ที่จะเห็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางมากขึ้น โดยความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ผ่านกรอบการหารือที่เปิดโอกาสให้ทั้งสองภูมิภาคได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 49 ประเทศ และปาเลสไตน์ ทั้งจากภูมิภาคเอเชีย (เอเชียตะวันออก เอเชียใต้และเอเชียกลาง) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

การหารือในกรอบ AMED แบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสื่อมวลชน โดยมีกลไกขับเคลื่อน 3 กลไกหลัก คือ (1) คณะกรรมการกำหนดนโยบาย (Steering Committee) (2) การประชุมระดับรัฐมนตรี และ (3) คณะทำงาน (Working Group) ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

2. การประชุมระดับรัฐมนตรี

2.1 เจ้าภาพจัดการประชุม การประชุมระดับรัฐมนตรี AMED มีขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยประเทศในกลุ่มเอเชียและตะวันออกกลางที่หมุนเวียนกันเป็นประธานคราวละ 2 ปี (ครั้งที่ 1 ปี 2548 สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพและครั้งที่ 2 ปี 2551 อียิปต์เป็นเจ้าภาพ) โดยความสมัครใจ ซึ่งไทยและซาอุดีอาระเบียได้เสนอตัวเป็นประธานและเจ้าภาพ AMED III และ AMED IV ตามลำดับ

2.2 รูปแบบของการประชุม เป็นการอภิปรายแบบ panel discussion ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมโดยในแต่ละด้านจะแยกการอภิปรายออกเป็น 2-3 กลุ่มย่อยในหัวข้อที่ Steering Committee เป็นผู้กำหนด โดยผู้อภิปรายและผู้เข้าร่วมรับฟังจะเป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญจากแวดวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง ฝ่ายละ 1คน กล่าวสุนทรพจน์ (keynote address) เปิดการอภิปรายในแต่ละด้าน

2.3 ผลลัพธ์ของการประชุม มีรูปแบบเป็นรายงานของประธาน (Chairman’s Report) ซึ่งเป็นเอกสารสรุปสาระสำคัญของการประชุม ที่เจ้าภาพจะเป็นผู้จัดทำขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม เพื่อเวียนให้ประเทศสมาชิกพิจารณารับรอง โดยไม่มีการลงนาม

2.4 ผู้เข้าร่วมการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสมาชิก AMED จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน (การประชุมครั้งที่ 1 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพียง 9 ประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ 7 ประเทศ จากทั้งหมด 39 ประเทศ และปาเลสไตน์ เข้าร่วมการประชุม และการประชุมครั้งที่ 2 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 19 ประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ 10 ประเทศเข้าร่วมการประชุมจากทั้งหมด 44 ประเทศ และปาเลสไตน์)

3. การประชุม AMED III

3.1 ไทยได้รับมอบตำแหน่งการเป็นประธาน AMED ต่อจากอียิปต์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 และมีพันธกรณีที่จะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 (AMED III) ก่อนที่จะส่งต่อการเป็นประธานให้แก่ ซาอุดีอาระเบียต่อไป

3.2 กต.ได้พิจารณาช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมแล้วจึงได้กำหนดให้มีการประชุม AMED III ขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

3.3 กต.ได้เริ่มเตรียมการจัดการประชุมดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นที่ไทยควรผลักดันให้มีการหารือระหว่างการประชุมฯ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทย ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และ 28 มิถุนายน 2553

3.4 เมื่อเดือนธันวาคม 2552 กต.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวงสำหรับการจัดประชุม AMED III เพื่อควบคุมดูแลให้การจัดการประชุมฯ เป็นไปโดยเรียบร้อย

4. การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

4.1 กต.ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงเตรียมที่จะเชิญผู้แทนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมที่อยู่ในความสนใจและมีผลประโยชน์ ทั้งในฐานะผู้อภิปราย (panelist) และผู้แทนไทยเข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะข้อคิดเห็นใน panel discussion ต่างๆ

4.2 กต.อยู่ระหว่างการทาบทามหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมจัดกิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุม ในลักษณะของการจัดบูธแสดงศักยภาพของไทยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าและการลงทุน ด้านอาหาร ด้านพลังงาน และด้านการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยขณะนี้ได้รับการยืนยันจากกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้ว

4.3 กต.เตรียมที่จะกราบเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม AMED III ในช่วงเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม 2553 และจะขอความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเตรียมการแสดงทางวัฒนธรรมในโอกาสต่าง ๆ

5. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุม AMED III

5.1 นื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นตลาดแหล่งเงินทุนและแหล่งพลังงานที่สำคัญของไทย ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจึงเป็นเป้าหมายหลักของไทยในการประชุม AMED III โดย กต.หวังว่าข้อเสนอแนะทางนโยบายที่ได้รับจากการหารือและกิจกรรมคู่ขนานต่าง ๆ จะนำไปสู่โอกาสในการเจาะตลาดสินค้าไทยในตะวันออกกลางตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากตะวันออกกลางและความร่วมมือด้านอาหารและพลังงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

5.2 นอกจากผลประโยชน์ภายใต้กรอบ AMED แล้ว การประชุม AMED III ยังเป็นโอกาสให้ไทยได้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก AMED ในระดับทวิภาคี โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังมีปฏิสัมพันธ์กับไทยอยู่น้อยเพราะอยู่ห่างไกลหรือไม่มีตัวแทนของประเทศไทยตั้งอยู่ โดยไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการหารือทวิภาคีเพื่อหาแนวทางกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้

5.3 การประชุม AMED III นอกจากจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถผลักดันผลประโยชน์ของไทยในด้านต่างๆ ได้แล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศโดยความพร้อมของไทยในการต้อนรับผู้แทนระดับสูงจากกว่า 50 ประเทศ และการจัดการประชุมนานาชาติครั้งใหญ่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ที่สำคัญกว่าสถานการณ์ในไทยได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การประชุม AMED III ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองได้อีกทางหนึ่งด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ