สรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 15:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของกระทรวงคมนาคม โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2552 สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 กับเดือนกรกฎาคม 2553 ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ปลอดภัยคมนาคม และระบบ TRAMS จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เวลา 09.00 น. ดังนี้

1. สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2552

สาขาการขนส่ง        อุบัติเหตุที่รับรายงาน (ครั้ง)             ผู้บาดเจ็บ (ราย)               ผู้เสียชีวิต (ราย)
                 ก.ค.52  ก.ค.53  เปรียบเทียบ    ก.ค.52  ก.ค.53   เปรียบเทียบ   ก.ค.52  ก.ค.53  เปรียบเทียบ
ถนน                 715     419    -41.40%       502     443     -11.80%       78      55    -29.50%
จุดตัดรถไฟกับถนน        13       7    -46.20%         7       3     -57.10%        7       4    -42.90%
ทางน้ำ                 5       2    -60.00%         5       0       -100%        0       1       100%
ทางอากาศ              0       0          -         0       0           -        0       0          -
รวม                 733     428    -41.60%       514     446     -13.20%       85      60    -29.40%

หมายเหตุ ตัวเลข -100% หมายถึง ไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนกรกฎาคมของปี 2552 กับปี 2553 พบว่าในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 41.6 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 13.2 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 29.4 และเมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนกรกฎาคม 2553 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 97.9 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 99.3 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 91.7 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนกรกฎาคม 2553 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิด ยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด มีสถิติที่ลดลงร้อยละ 42.1 และการตัดหน้ากระชั้นชิด มีสถิติลดลงร้อยละ 51.6 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552 นอกจากนี้ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

2. สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 กับเดือนกรกฎาคม 2553

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

             ข้อมูลอุบัติเหตุ         มิ.ย.53           ก.ค.53     รวม (ม.ค.-ก.ค.53)
             อุบัติเหตุ (ครั้ง)          803     419 (-47.8%)            7,054
             ผู้เสียชีวิต (ราย)          86      55 (-36.0%)            1,025
             ผู้บาดเจ็บ (ราย)         635     443 (-30.2%)            6,729

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 7,054 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 1,025 ราย และผู้บาดเจ็บ 6,729 ราย โดยในเดือนกรกฎาคม 2553 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553

3. ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

กระทรวงคมนาคมขอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

3.1 การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์) กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถสาธารณะ โดยในเดือนกรกฎาคม 2553 ได้ดำเนินการตรวจผู้ขับรถสาธารณะจำนวน 110,795 ราย พบว่ามีผู้ขับรถสาธารณะที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดแต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 ราย จึงได้ดำเนินการลงโทษโดยให้เปลี่ยนพนักงานขับรถ

3.2 การปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย และโค้งอันตราย โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการรวบรวมรายการการเกิดอุบัติเหตุและแนวทางแก้ไขจากหน่วยงานแขวงการทาง และสำนักงานบำรุงทางทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 108 แห่ง รวมสะสมตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน 2553 คิดเป็นร้อยละ 23.2 ของแผนที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 466 แห่ง

3.3 การยกระดับความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายของกรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการแก้ไข/ปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ และสายทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านปลอดภัยงานทางให้กับประชาชน จำนวน 2,917 คน

4. การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนมาตรการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่ง

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในระบบขนส่ง จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้

4.1 ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522 ได้เพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

4.1.1 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งเช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งระหว่างประเทศ

4.1.2 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแจ้งภัยและ เหตุร้ายติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ เนื่องจากเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์ของรถขัดข้องตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก

4.1.3 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องไม่กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล หรือกระทำการลามกอย่างอื่นไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเองหรือกระทำด้วยสื่อหรือวัสดุใด ๆ อันทำให้ปรากฏความหมายในทำนองเดียวกัน

4.1.4 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก การขนส่งส่วนบุคคล และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับรถไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่

4.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีผู้ควบคุมการตรวจสภาพและผู้ตรวจสภาพรถต้องมีคุณสมบัติและผ่านการอบรมและทดสอบตามที่อธิบดีฯ กำหนด

4.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการสำหรับคนพิการในโครงสร้างพื้นฐานและในระบบการขนส่งสาธารณะ พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

4.3.1 ระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในอาคาร/สถานที่ต้องจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ในยานพาหนะต้องจัดที่นั่งที่สะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมจัดอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมตามความเหมาะสม และอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต้องมีสภาพมั่นคงและปลอดภัยในการใช้งานและช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ

4.3.2 ในเขตทางหลวงและทางพิเศษ ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ต้องมีป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกโดยมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแสดงทาง/ประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถสำหรับคนพิการ ต้องจัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ต้องจัดให้มีสัญญาณคนข้ามถนนที่มีเสียงให้คนพิการเห็น/ได้ยิน ต้องจัดให้มีราวกันตกและที่หยุดล้อเลื่อนในบริเวณที่อันตราย และต้องมีผู้ให้บริการแก่คนพิการ

5. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในภาคการขนส่งทางถนน ดังนี้

5.1 ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังคงมาตรการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางตรง ซึ่งยังคงเกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนที่มากกว่าบริเวณอื่น และการแก้ไขปรับปรุงโค้งอันตรายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

5.2 ให้กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง จำกัด ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม 2553 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะ(ทั้งจากรถโดยสารและคู่กรณี) เกินค่าเฉลี่ยในรอบ 6 เดือนก่อนหน้า (19 ราย จากค่าเฉลี่ย 17.7 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23.8 จากยอดสะสมมกราคม-กรกฎาคม 2553)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ