สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 26

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 16:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 26 ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ และการดำเนินการตามแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

สถานการณ์อุทกภัย

อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ประกอบกับช่วงปลายสัปดาห์มีคลื่นกระแสลมตะวันออกได้เคลื่อนเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง ส่งผลให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 11 — 14 สิงหาคม 2553 ได้รับรายงานพื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ดังนี้

1. จังหวัดเชียงราย ประสบภัย 1 อำเภอ คือ อำเภอพาน

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 เกิดฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำแม่ส้าน ปริมาณฝนที่สถานีอำเภอพาน วัดได้ 120 มม. ทำให้น้ำแม่ส้านไหลล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในเขตอำเภอพาน ปัจจุบัน (14 ส.ค. 53) ยังคงมีน้ำท่วม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลเมืองพาน ม่วงคำ หัวง้ม ดอยงาม ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.30-1.20 เมตร หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มเติมคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน

2. จังหวัดเชียงใหม่ ประสบภัย 1 อำเภอ คือ อำเภอแม่อาย

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 เกิดฝนตกหนักที่อำเภอแม่อาย ปริมาณฝนที่สถานีโครงการชลประทานฝายแม่สาว วัดได้ 55 มม. ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วม อำเภอแม่อาย ตำบลแม่นาวาง สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้วเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2553

3. จังหวัดลำพูน ประสบภัย 2 อำเภอ คือ อำเภอแม่ทา ป่าซาง

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2553 เกิดฝนตกหนักที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งที่อำเภอแม่ทา และป่าซาง สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้วเมื่อวันนี้ (15 ส.ค. 2553)

4. จังหวัดลำปาง ประสบภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปาน วังเหนือ แจ้ห่ม

เมื่อวันที่ 11-14 ส.ค. 2553 เกิดฝนตกหนักเกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำวังและลำน้ำสาขาได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น ปัจจุบัน( 14 ส.ค. 2553) ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 9.61 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนกิ่วลมมีปริมาณน้ำ 82.387 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% ของความจุ (ความจุเก็บกักเขื่อนกิ่วลม 112 ล้าน ลบ.ม.)

เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย เขื่อนกิ่วลมมีความจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำจากน้ำตอนบน ด้วยอัตราการระบาย 215.00 ลบ.ม./วินาที (18.58 ล้าน ลบ.ม./วัน) ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอเมือง ประมาณ 300 ลบ.ม./วินาที (เวลาประมาณ 23.00 น. ณ วันที่ 14 ส.ค. 2553) จะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำวังสูงขึ้นและท่วมพื้นที่บางส่วนที่กับลำน้ำวัง และจะไหลบรรจบกับแม่น้ำตุ๋ยท้ายตัว อำเภอเมือง ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที และจะไหลผ่าน อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และจะไหลเข้าสู่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มในเขตอำเภอสามเงาได้ ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมาได้แจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ทราบแล้ว

ในวันที่ 15. ส.ค. 2553 เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 31.43 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาตรน้ำ 93 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83 % ของความจุ (ความจุเก็บกักเขื่อนกิ่วลม 112 ล้าน ลบ.ม.) มีการระบายน้ำวันนี้ 19.54 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะระบายน้ำวันละ 19.54 ล้าน ลบ.ม. ไปอีก 2-3 วัน เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อน จากการรายงานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา พบว่ามีน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งเล็กน้อยบริเวณถนนติดกับลำน้ำ

5. จังหวัดแพร่ ประสบภัย 1 อำเภอ คือ อำเภอวังชิ้น

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอวังชิ้น 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลวังชิ้น สรอด ป่าสัก นาพูน แม่พุง ป้าก และแม่เกิ่ง สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2553

6. จังหวัดอุตรดิตถ์ ประสบภัย 1 อำเภอ คือ อำเภอลับแล

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2553 เกิดน้ำท่วมฉับพลันพื้นที่ของตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล ระดับน้ำเริ่มลดระดับลงแล้ว ส่วนบริเวณริมลำห้วยยังคงมีน้ำท่วมขัง

7. จังหวัดสุโขทัย ประสบภัย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก กงไกรลาศ และเมือง

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2553 เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งตามแม่น้ำยมในพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก กงไกรลาศ และเมือง

สถานการณ์น้ำ

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ (15 สิงหาคม 2553) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 35,803 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ49 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน(34,494 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 1,309 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,962 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (47,327 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64) จำนวน 11,524 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 37,752 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (15 สิงหาคม 2553) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 33,908 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (32,738 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 1,170 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำใช้การได้ 10,385 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (45,048 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65) จำนวน 11,140 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 35,687 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสักฯ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร

             อ่างเก็บน้ำ       ม.ค.    ก.พ.    มี.ค.  เม.ย.    พ.ค.    มิ.ย.    ก.ค.  1-11 ส.ค.       รวม
             ภูมิพล          52.09    1.74    4.95      0    15.6   34.06   146.2     285.88    540.52
             สิริกิติ์         136.62   97.73   85.93  69.12  114.18  150.64  622.74     862.11  2,139.07
             ภูมิพล+สิริกิติ์    188.71   99.47   90.88  69.12  129.78   184.7  768.94    1147.99  2,679.59
             แควน้อยฯ       42.49   25.69   31.19  14.35   19.65   33.36   75.36      62.72    304.81
             ป่าสักชลสิทธิ์     41.06    5.51      19  10.18   17.44   27.91    5.72      72.82    199.64

รวม 4 อ่างฯ 272.26 130.67 141.07 93.65 166.87 245.97 850.02 1,662.51 3,563.02

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักชลสิทธิ์

                                                                              หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำ        ปริมาตรน้ำ        ปริมาตรน้ำ     ปริมาตรน้ำ           ปริมาณน้ำ         ปริมาณน้ำ    ปริมาณน้ำ
                ในอ่างปี52       ในอ่างปี 53     ใช้การได้           ไหลลงอ่าง          ระบาย      รับได้อีก
            ปริมาตรน้ำ   %    ปริมาตรน้ำ   %   ปริมาตรน้ำ    %      วันนี้  เมื่อวาน      วันนี้ เมื่อวาน
ภูมิพล           6,173  46       4,233  31        433    3    36.66   26.29        3      3    9,229
สิริกิติ์           5,132  54       4,330  46      1,480   16    52.14   68.66     5.43   5.41    5,180
ภูมิพล+สิริกิติ์     11,305  50       8,563  37      1,913    8     88.8   94.95     8.43   8.41   14,409
แควน้อยฯ          155  20         237  31        201   26     6.39    3.98     0.43   0.43      532
ป่าสักชลสิทธิ์        293  31         137  14        134   14     9.19    7.91        0      0      823

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 8 อ่าง ได้แก่ แม่กวง(13) น้ำอูน(28) ลำตะคอง(29) มูลบน(26) ป่าสักฯ(14) ทับเสลา(24) แก่งกระจาน(27) และปราณบุรี(27) ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 5 ได้แก่ อ่างกิ่วคอหมา แควน้อย ห้วยหลวง ลำปาว ขุนด่านฯ

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 1 อ่าง คือ หนองปลาไหล(81)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 76.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ (น้อยกว่าปี 2552 จำนวน 0.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 0.05) ปริมาณน้ำใช้การได้ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 385.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ (มากกว่าปี 2552 จำนวน 47.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 14) ปริมาณน้ำใช้การได้ 357 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้นบริเวณสถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น บริเวณสถานี N.1 หน้าสำนักงานป่าไม้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และบริเวณสถานี N.67 สะพานบ้านเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำตาปี แม่น้ำโก-ลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

3. คุณภาพน้ำ

จากการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าความเค็มต่ำกว่ามาตรฐาน จึงขอยุติการรายงาน

การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ตามแผนเตรียมสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. แจ้งเตือนผ่านศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด

1.1 ให้เกษตรกรเตรียมการรับสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 11-14 สิงหาคม 2553 บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา หรือที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ ส่วนชาวเรือควรระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือในระยะดังกล่าวด้วย

1.2 ให้เกษตรกรเฝ้าระวังพร้อมคำแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว แมลงบั่ว โรคเมล็ดด่าง โรคไหม้ หอยเชอรี่ และหนู

2. การปฏิบัติการฝนหลวง สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปรับแผนปฏิบัติการการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการ จำนวน 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก แพร่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี และฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 6 ฐาน ได้แก่ นครสวรรค์ บุรีรัมย์ นครพนม นครราชสีมา ระยอง นครศรีธรรมราช

3. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 422 เครื่อง ในพื้นที่ 47 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 12 จังหวัด จำนวน 135 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (35 เครื่อง) นครสวรรค์ (1 เครื่อง) เพชรบูรณ์(3 เครื่อง) ลำปาง (31 เครื่อง) น่าน (11 เครื่อง) พิษณุโลก(1 เครื่อง) แพร่ (8 เครื่อง) ตาก (6 เครื่อง) ลำพูน (13 เครื่อง) พะเยา (5 เครื่อง) แม่ฮ่องสอน (18 เครื่อง) เชียงราย (3 เครื่อง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด จำนวน 124 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา (5 เครื่อง) ขอนแก่น(3 เครื่อง) มหาสารคาม (3 เครื่อง) ร้อยเอ็ด (11 เครื่อง) กาฬสินธุ์ (49 เครื่อง) อุบลราชธานี (6 เครื่อง) นครพนม(8 เครื่อง) มุกดาหาร (5 เครื่อง) อำนาจเจริญ (14 เครื่อง) สุรินทร์ (7 เครื่อง) ศรีสะเกษ (11 เครื่อง)และอุดรธานี (2 เครื่อง)

ภาคกลาง 11 จังหวัด จำนวน 46 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท (11 เครื่อง) ลพบุรี (2 เครื่อง) สิงห์บุรี (1 เครื่อง) สระบุรี (1 เครื่อง) อยุธยา (2 เครื่อง) นนทบุรี (5 เครื่อง) ปทุมธานี (8 เครื่อง) สุพรรณบุรี (9 เครื่อง) สมุทรสาคร(2 เครื่อง) ราชบุรี(1 เครื่อง) และอุทัยธานี (1 เครื่อง)

ภาคตะวันออก 3 จังหวัด จำนวน 36 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครนายก (11 เครื่อง) ปราจีนบุรี (11 เครื่อง) และฉะเชิงเทรา (14 เครื่อง)

ภาคใต้ 8 จังหวัด จำนวน 58 เครื่อง ได้แก่ จังหวัด เพชรบุรี (2 เครื่อง) นครศรีธรรมราช (19 เครื่อง) พังงา(1 เครื่อง) สงขลา (17 เครื่อง) ยะลา (6 เครื่อง) พัทลุง (5 เครื่อง) ตรัง (1 เครื่อง) และปัตตานี (7 เครื่อง)

ผลกระทบด้านการเกษตร

อุทกภัย ช่วงภัยวันที่ 5 มิถุนายน.-19 กรกฎาคม.2553

พื้นที่ประสบภัย 8 จังหวัด 23 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน ลำปาง เชียงราย กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง ตรัง และสตูล เกษตรกร 14,732 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 67,004 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 16,807 ไร่ พืชไร่ 43,791 ไร่ และพืชสวน 6,472 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค. 2553)

ด้านประมง พื้นที่ประสบภัย 4 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน ลำปาง เชียงราย และเลย เกษตรกร 671 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 789 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 294 ไร่ 97 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 2,305 ตารางเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ส.ค. 2553)

ด้านปศุสัตว์ พื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัด 16 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน พะเยา ลำปาง เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เกษตรกร 1,074 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 36,221 ตัว แยกเป็น โค - กระบือ 34 ตัว สุกร 3 ตัว สัตว์ปีก 36,184 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค. 2553)

การดำเนินการ ด้านพืชและด้านปศุสัตว์อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ส่วนด้านประมงจ่ายเงินช่วยเหลือแล้วด้วยเงินทดรองราชการในอำนาจนายอำเภอ 1 จังหวัด คือจังหวัดเชียงราย เป็นเงิน 6,812 บาท

ฝนทิ้งช่วง ช่วงภัยวันที่ 17 พฤษภาคม — 13 กรกฎาคม 2553

ด้านพืช พื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัด 17 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดน่าน พิจิตร แพร่ และอำนาจเจริญ ชุมพร เกษตรกร 43,499 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 223,685 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 164,309 ไร่ พืชไร่ 55,436 ไร่ และพืชสวน 3,940 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค.2553)

การดำเนินการ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

ภัยแล้ง ช่วงภัยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 มิถุนายน 2553

ด้านพืช พื้นที่การเกษตรเสียหาย 45 จังหวัด เกษตรกร 212,199 ราย พื้นที่การเกษตรทั้งสิ้น 1,528,614 ไร่ (ไม่มีรายงานเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน) แบ่งเป็น ข้าว 96,498 ไร่ พืชไร่ 1,269,002 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 163,114 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 1,251.1333 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2553)

การดำเนินการ

  • ช่วยเหลือแล้วด้วยงบจังหวัดและงบกลาง วงเงิน 63.1648 ล้านบาท
  • อยู่ระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง (คปอล.) จำนวน 18 จังหวัด วงเงิน 374.9301 ล้านบาท
  • อยู่ระหว่างรอเอกสารของบกลางของจังหวัด วงเงิน 813.0384 ล้านบาท

ด้านปศุสัตว์ พื้นที่เสียหาย 1 จังหวัด คือจังหวัดตาก เกษตรกร 98 ราย แปลงหญ้าเสียหาย 1,392 ไร่ วงเงิน 306,240 บาท อยู่ระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจาก คปอล.

ด้านประมง พื้นที่เสียหาย 1 จังหวัด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกร 5 ราย พื้นที่ 9 ไร่ วงเงิน 30,654 บาท อยู่ระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจาก คปอล.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ