มาตรการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 13:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการมาตรการสร้างแรงจูงใจ ประกอบด้วยมาตรการคืนภาษี 2 มาตรการ และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่น ๆ รวม 4 ประเภท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ทั้ง 2 ข้อ โดย มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาแนวทางในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศ ให้สามารถขอคืนได้โดยสะดวกรวดเร็ว และให้ยกเว้นการเก็บภาษีนักแสดงต่างชาติด้วย ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ดังนี้

1. มาตรการคืนภาษี 2 มาตรการ ได้แก่

1.1 การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวน (ร้อยละ 100) เป็นเงินสด (Tax Rebate) ให้บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศ

1.2 การคืนภาษีอื่น ๆ ทุกประเภทที่มิใช่ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้คืนไปแล้ว คิดเป็นร้อยละ 15-20 (แล้วแต่เงื่อนไขที่จะกำหนดต่อไป) จากยอดภาษีทุกประเภทที่บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศต้องจ่ายให้ประเทศไทย โดยเก็บเป็นเครดิตด้านภาษี (Tax Credits)

2. มาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี 4 ประเภท ได้แก่

2.1 ยกเว้นการเก็บภาษีนักแสดงต่างชาติ หรือเก็บภาษีนักแสดงต่างชาติในอัตราศูนย์

2.2 ปรับปรุงข้อความในแบบแจ้งขออนุญาตทำงานชั่วคราวของชาวต่างชาติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

2.3 ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์

2.4 จัดช่องทางด่วนพิเศษในการตรวจลงตราเข้าประเทศที่สนามบินนานาชาติทุกแห่งของประเทศไทย สำหรับนักแสดงและคณะถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 15 วันขึ้นไป โดยได้รับการลงตราหนังสือเดินทางประเภท Non-immigrant จากสถานทูตไทยในประเทศนั้น ๆ อย่างถูกต้องเป็นหลักฐาน

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รายงานว่า

1. ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางสร้างมาตรการจูงใจด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยโดยมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการภาคเอกชน

2. คณะทำงานฯ ตามข้อ 1 พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในธุรกิจบริการด้านภาพยนตร์ได้ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการสร้างแจงจูงใจด้านภาษี ดังนี้ (2.1) การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ร้อยละ 100 (2.2) การเก็บภาษีนักแสดงต่างชาติในอัตราร้อยละ 0 (2.3) การลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ (2.4) การยกเลิกภาษีฟิล์มภาพยนตร์

3. กก.พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมในธุรกิจบริการด้านภาพยนตร์ ทั้งด้านสถานที่ถ่ายทำ (Location) เทคโนโลยี และบุคลากรเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเป็นเวลายาวนาน กลับต้องถูกช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เพราะประเทศเหล่านั้นมีมาตรการการยกเว้นภาษีและคืนทุนในสัดส่วนที่จูงใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จำเป็นต้องดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดลูกค้ารายเดิมกลับคืนมา เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ลูกค้ารายใหม่ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบบางประการที่เป็นอุปสรรคและไม่เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกแก่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยมีมาตรการสร้างแรงจูงใจประกอบด้วย มาตรการคืนภาษี 2 มาตรการ และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่น ๆ รวม 4 ประเภท ดังนี้

3.1 มาตรการคืนภาษี 2 มาตรการ ได้แก่

3.1.1 การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวน (ร้อยละ 100) เป็นเงินสด (Tax Rebate) ให้บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศ สามารถพิจารณาเลือกวิธีการคืนภาษีแบบใดแบบหนึ่ง ดังนี้

(1) ขอคืนภาษีเป็นเงินสดโดยตรงจากกรมสรรพากร โดยจะคืนภาษีให้บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศที่นำค่าใช้จ่ายซึ่งมีใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลักฐานในการขอรับภาษีคืน

(2) ขอคืนภาษีดังกล่าวจากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว โดยจะคืนภาษีให้บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศที่นำค่าใช้จ่ายซึ่งมีใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลักฐานในการขอรับภาษีคืน ทั้งนี้ ในแต่ละปีสำนักงบประมาณต้องตั้งงบประมาณไว้ที่สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นค่าภาษีที่ต้องเตรียมไว้คืนในวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากรายได้นำเข้าจากการถ่ายทำภาพยนตร์ของปีที่ผ่านมา เช่น ปี 2551 มีรายได้ 2,000 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2552 ต้องเตรียมงบประมาณไว้คืนภาษีร้อยละ 5 คิดเป็นเงิน 100 ล้านบาท เป็นต้น

3.1.2 การคืนภาษีอื่น ๆ ทุกประเภทที่มิใช่ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้คืนไปแล้ว คิดเป็นร้อยละ 15-20 (แล้วแต่เงื่อนไขที่จะกำหนดต่อไป) จากยอดภาษีทุกประเภทที่บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศต้องจ่ายให้ประเทศไทย โดยเก็บเป็นเครดิตด้านภาษี (Tax Credits) ไว้ให้ในกรณีที่บริษัทดังกล่าวกลับมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศอีก ก็จะได้รับการนำยอดภาษีที่จะได้รับคืนจากเรื่องที่แล้วมาเป็นเครดิตหักลบกับยอดภาษีที่ต้องชำระของเรื่องใหม่ เป็นต้น

เนื่องจากการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศแต่ละเรื่องจะเสียภาษีทุกประเภทรวมกันแล้ว ประมาณร้อยละ 10 ของเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 3-5 ของเงินลงทุนเท่านั้น ซึ่งคณะถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศเห็นว่าไม่ช่วยลดภาระด้านต้นทุนมากนัก ดังนั้น การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและการคืนภาษีประเภทอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมในคณะถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คณะถ่ายทำดังกล่าวเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีทางอ้อมจากผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต้องจ้างหรือใช้บริการนั้น ๆ ได้มากกว่าการจัดเก็บภาษีโดยตรงคณะถ่ายทำดังกล่าวหลายเท่า

3.2 มาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี 4 ประเภท ได้แก่

3.2.1 ยกเว้นการเก็บภาษีนักแสดงต่างชาติหรือเก็บภาษีนักแสดงต่างชาติในอัตราศูนย์ เพื่อให้นักแสดงชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงยินดีเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไขด้านภาษีแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ในขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ไม่มีการจัดเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวทั้งจากนักแสดงและคณะถ่ายทำ

3.2.2 ปรับปรุงข้อความในแบบแจ้งขออนุญาตทำงานชั่วคราวของชาวต่างชาติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย เนื่องจากแบบแจ้งขออนุญาตทำงานชั่วคราวดังกล่าว กำหนดให้คณะถ่ายทำชาวต่างประเทศดังกล่าวเป็นลูกจ้างและกำหนดให้ผู้ประสานงานเป็นนายจ้าง ซึ่งตามความจริงแล้วคณะถ่ายทำชาวต่างประเทศเป็นนายจ้างและว่าจ้างผู้ประสานงานเป็นลูกจ้างทำงานให้ จากข้อผิดพลาดในแบบแจ้งขอทำงานดังกล่าวส่งผลให้กรมสรรพากรตีความว่าชาวต่างชาติดังกล่าวเป็นผู้มีเงินได้ทั้งๆ ที่ทีมงานชาวต่างประเทศดังกล่าวเป็น ผู้นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยว่าจ้างคนไทยเป็นลูกจ้าง จึงเห็นควรปรับปรุงแบบแจ้งขออนุญาตดังกล่าวให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะส่งผลให้นักแสดงและคณะถ่ายทำชาวต่างประเทศดังกล่าวได้รับการตีความอย่างถูกต้องว่ามิได้เป็น ผู้มีเงินได้ในประเทศไทย

3.2.3 ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยเห็นควรปรับปรุงเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้สามารถครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการรายเดิมโดยไม่จำเป็นต้องเปิดบริษัทลงทุนใหม่ทั้งหมดถึงจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของคนไทยซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมดไม่ได้รับประโยชน์จากประกาศของสำนักงานดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเช่าอุปกรณ์การถ่ายทำในประเทศไทยสูงกว่าค่าเช่าอุปกรณ์ของประเทศอื่นๆ มาก

3.2.4 จัดช่องทางด่วนพิเศษ ในการตรวจลงตราเข้าประเทศที่สนามบินนานาชาติทุกแห่งของประเทศไทย สำหรับนักแสดงและคณะถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 15 วัยขึ้นไป โดยได้รับการลงตราหนังสือเดินทางประเภท Non-immigrant จากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ อย่างถูกต้องเป็นหลักฐาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ