โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 14:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งคณะกรรมการ ทอท.มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดศึกษาความเหมาะสมของทางเลือกในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ให้แล้วเสร็จ และมีความชัดเจนโดยเร็ว แล้วนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณากำหนดเป็นนโยบายการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 — 2559) วงเงินลงทุน 62,503.214 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้วในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 สรุปสาระสำคัญของโครงการได้ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสาร ได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี [จาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี (ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี) ] ประกอบด้วย งานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 งานระบบสาธารณูปโภค และงานจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารหลัก วงเงินรวม 7,405.863 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก ปีงบประมาณ 2555 — 2559 วงเงินลงทุน 6,780.190 ล้านบาท โดยมีพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ตารางเมตร ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี
  • งานออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก (อาคารจอดรถ 1) ปีงบประมาณ 2555 — 2558 วงเงินลงทุน 625.673 ล้านบาท โดยสร้างเป็นอาคาร 2 ส่วน ด้านหน้าเป็นอาคารสำนักงานสูง 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 35,000 ตารางเมตร ส่วนด้านหลังเป็นอาคารที่จอดรถสูง 5 ชั้น และดาดฟ้าอีก 1 ชั้น พื้นที่ประมาณ 32,000 ตารางเมตร สามารถจอดรถได้ประมาณ 1,000 คัน ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีพื้นที่จอดรถระยะสั้นทั้งหมดประมาณ 6,500 คัน แบ่งเป็นภายในอาคารจอดรถ 1, 2 และ 3 ประมาณ 6,000 คัน และพื้นที่จอดรถ นอกอาคารประมาณ 500 คัน

2) กลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 วงเงินรวม 40,745.067 ล้านบาท แบ่งเป็นงานออกแบบและก่อสร้าง ดังนี้

  • งานออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite) ปีงบประมาณ 2555 — 2559 วงเงินลงทุน 27,864.653 ล้านบาท ระยะห่างจากอาคารผู้โดยสารหลักประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 216,000 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สะพานเทียบเครื่องบิน (Passenger Loading Bridges) ระบบช่วยนำอากาศยานเข้าหลุมจอด (Docking Guidance) ระบบจัดการการใช้หลุมจอด (Gate Assignment) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และระบบลำเลียงกระเป๋า (Baggage Handling) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคารเทียบเครื่องบินรอง โดยมีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอดที่สามารถจอดอากาศยานขนาด A380 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด B747 ได้ 20 หลุมจอด
  • งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ปีงบประมาณ 2556 — 2559 วงเงินลงทุน 4,907.342 ล้านบาท รองรับหลุมจอดประชิดอาคารจำนวน 28 หลุมจอด พร้อมก่อสร้างระบบทางขับเพื่อเข้าสู่ลานจอดพื้นที่ประมาณ 960,000 ตารางเมตร
  • งานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้และระบบรถรางไฟฟ้าขนส่ง ผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ปีงบประมาณ 2554 — 2559 วงเงินลงทุน 7,973.072 ล้านบาท โดยก่อสร้างอุโมงค์ต่อเติมจากปลายอุโมงค์ของอาคารผู้โดยสารหลักเดิมที่ได้ก่อสร้างอุโมงค์ไว้แล้วส่วนหนึ่งเชื่อมต่อมายังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่จะสร้างใหม่ ระยะทาง 700 เมตร รวมทั้งวางระบบรถรางไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติไม่มีคนขับ พร้อมตู้โดยสารขบวนละ 2 ตู้ ซึ่งสามารถขนส่งผู้โดยสารได้วันละ 50,000 คนต่อวัน เพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

3) งานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ปีงบประมาณ 2554 — 2559 วงเงินลงทุน 2,693.219 ล้านบาท ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแรงสูงและประปา รวมทั้งระบบน้ำเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศ เพื่อเชื่อมเข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และระบบรถรางไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)

4) งานจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ (Project Management Consultant : PMC) ปีงบประมาณ 2554 — 2559 วงเงิน 763 ล้านบาท โดยให้เริ่มดำเนินการตามสัญญาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 จนสิ้นสุดโครงการเป็นเวลาประมาณ 6 ปี

2. แนวทางการดำเนินงานและผลตอบแทนทางการเงิน

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปีงบประมาณ 2554 — 2559) อายุโครงการ 30 ปี มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (Import Content) ประมาณ 14,235 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.43 ของวงเงินลงทุน ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะใช้จ่ายจากเงินรายได้ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในการลงทุนจำนวน 45,053.214 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 72.08 ในช่วงปีงบประมาณ 2554 — 2559 และมาจากเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 17,450 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 27.92 ในช่วงปีงบประมาณ 2558 — 2559 ทั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประมาณการผลตอบแทนทางการเงิน (Internal Rate of Return : IRR) เท่ากับร้อยละ 9.02 โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) เท่ากับ 645.484 ล้านบาท และมีระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) เท่ากับ 10 ปี 1 เดือน โดยมีแผนการเบิกจ่ายเงินลงทุน ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

กลุ่มงาน                       วงเงิน      ปีงบประมาณ
                              ลงทุน      2554      2555       2556       2557       2558       2559
1. อาคารผู้โดยสารหลัก        7,405.86         -   128.929   1,115.05   2,480.44   2,405.71   1,275.74
2. อาคารเทียบเครื่องบินรอง   40,745.07     7.864   575.359   6,869.06  13,146.04  13,146.04   7,000.69
   หลังที่ 1
3. ระบบสาธารณูปโภค         2,693.22     5.344     58.78    545.473    861.431    861.431     360.76
4. งานจ้างที่ปรึกษาบริหาร           763   169.495  111.834    111.834    111.834     111.834    146.169
   จัดการโครงการ (PMC)
   รวม                   51,607.15   182.703   874.902   8,641.42  16,599.75  16,525.02   8,783.36
สำรองราคาและปริมาณงาน      5,160.72     18.27     87.49    864.142   1,659.98   1,652.50    878.336
เปลี่ยนแปลงร้อยละ 10
ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7         3,973.75    14.068    67.367     665.39   1,278.18   1,272.43    676.319
รวมเงินลงทุน               60,741.61   215.041  1,029.76  10,170.96  19,537.90  19,449.95  10,338.01
ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง     1,761.60         -         -          -          -      714.6   1,047.00
รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น           62,503.21   215.041  1,029.76  10,170.96  19,537.90  20,164.55  11,385.01

3. การวิเคราะห์ความอ่อนไหวทางการเงิน (Sensitivity Analysis)

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการโดยมีสมมติฐานให้รายได้หรือค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุน ดังนี้

กรณี                          เพิ่ม/ลด    IRR (%)     NPV (ล้านบาท)      ผลต่าง (ล้านบาท)    Payback Period
กรณีฐาน (Base Case)                -       9.02          645.484                   -       10 ปี 1 เดือน
รายได้                           10%      10.14         6,137.02            5,491.54        9 ปี - เดือน
รายได้                          -10%       7.81        -4,846.06           -5,491.54       11 ปี 6 เดือน
ค่าใช้จ่าย                         10%       8.56        -1,480.99           -2,126.48       10 ปี 7 เดือน
ค่าใช้จ่าย                        -10%       9.46         2,771.96            2,126.48        9 ปี 8 เดือน
เงินลงทุน                         10%       8.38        -2,531.70           -3,177.18        11 ปี -เดือน

กระทรวงคมนาคมเห็นว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการให้บริการสายการบินระหว่างประเทศและภายในประเทศควบคู่กันไป ซึ่งในปี 2552 มีผู้โดยสารใช้บริการ 40.09 ล้านคน และ ทอท.คาดว่าในปี 2554 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 47.3 ล้านคน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สามารถรองรับได้ปีละ 45 ล้านคน ในขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถในการรองรับหลุมจอดเครื่องบินประชิดอาคารเท่ากับ 51 หลุมจอด แต่มีความต้องการ 67 หลุมจอด และจะเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนี้

สิ่งก่อสร้างหลักท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ                                                    ปี
                                                   53      54       55       56       57       58       59
1.อาคารผู้โดยสารหลัก : ผู้โดยสารล้านคนต่อปี              43.7    47.3*    50.8*    54.3*    57.6*    60.9*    64.2*
  (ขีดความสามารถ)                               (45.0)  (45.0)   (45.0)   (45.0)   (45.0)   (45.0)   (45.0)
2.ความต้องการหลุมจอดประชิดอาคาร** : จำนวนหลุมจอด       67*     68*      71*      76*      77*      82*      86*
  (ขีดความสามารถ)                               (51.0)  (51.0)   (51.0)   (51.0)   (51.0)   (51.0)   (51.0)
  ความต้องการหลุมจอดประชิดอาคารและระยะไกล           76.0    80.0     84.0     89.0     91.0     96.0    101.0
  ความต้องการหลุมจอดประชิดอาคาร ระยะไกลและค้างคืน    110.0   111.0    117.0      124*     126*     133*     140*
  (ขีดความสามารถรวมหลุมจอดทั้งหมด)                (120.0) (120.0)  (120.0)  (120.0)  (120.0)  (120.0)  (120.0)
3.ทางวิ่ง** : จำนวนเที่ยวบินต่อชั่วโมง                   60.0    62.0     63.0     67.0     71.0     74.0       77*
  (ขีดความสามารถ)                               (76.0)  (76.0)   (76.0)   (76.0)   (76.0)   (76.0)   (76.0)
หมายเหตุ : * เกินขีดความสามารถ

** ประเมินในชั่วโมงเร่งด่วน

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมการปรับปรุงพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาความแออัดและรักษาระดับการให้บริการผู้โดยสารให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเมื่อมีการดำเนินการพัฒนาโครงการฯ ตามแผนแล้ว จะทำให้สิ่งก่อสร้างหลักมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ดังนี้

สิ่งก่อสร้างหลัก                               ก่อนดำเนินการ      หลังดำเนินการ       ขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
1. อาคารผู้โดยสารหลัก (ล้านคนต่อปี)                  45               60                    15
2. หลุมจอดเครื่องบิน
   หลุมจอดระยะใกล้ (หลุมจอด)                      51               79                    28
   หลุมจอดระยะไกล (หลุมจอด)                      69               69                     -
   รวมหลุมจอดทั้งหมด (หลุมจอด)                    120              148                    28
3. พื้นที่จอดรถ
   อาคารจอดรถ (หลัง)                             2                3                     1
   ลานจอดรถ (แห่ง)                               2                1                ลดลง 1
   รวมพื้นที่จอดรถทั้งหมด (คัน)                    6,000            6,500                   500

อนึ่ง ทอท. จะดำเนินโครงการได้เมื่อได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตามขั้นตอนและผ่านการพิจารณา เห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ