คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2553 และแนวโน้มปี 2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/2553 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2553 เมื่อวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2553 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2553
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 ขยายตัวร้อยละ 9.1 (เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2553 ร้อยละ 02 (%QoQ SA) โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความมั่นใจของนักลงทุน ส่งผลให้การส่งออก การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แม้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ดังนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 10.6 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย ที่สามารถเชื่อมโยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะกับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
1.1 ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ขยายตัวถึงร้อยละ 41.8 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 32.0 ในไตรมาสที่ 1 การส่งออกสินค้าหลัก ๆ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และอัญมณี เครื่องประดับ ขยายตัวร้อยละ 97.1 43.5 37.2 และ 236.6 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 26.4) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 24.2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 34.7) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 95.0) และตลาดตะวันออกกลาง (ร้อยละ 22.7) เป็นต้น
1.2 ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.0 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ได้แก่ รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 93.9) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 36.3) วัสดุก่อสร้าง (ร้อยละ 10.4) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 32.7) ยางและผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 16.8) ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาวะการก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวร้อยละ 19.8 ชะลอจากร้อยละ 50.2 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 22.2 ชะลอจากร้อยละ 61.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.1 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 58.4 ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
1.3 ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 6.5 เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ ผ่านมา เนื่องจากราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 โดยเฉพาะราคายางพารา (ร้อยละ 108.7) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 93.8) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 26.9) ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.0 ประกอบกับภาวการณ์จ้างงาน อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 498,700 คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.3
1.4 การลงทุนในภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 18.5 ปรับตัวดีขึ้น จากที่ขยายตัวร้อยละ 15.8 ใน ไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการขยายตัวทั้งการลงทุนในสิ่งก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร จะเห็นได้จากปริมาณการจำหน่าย ปูนซีเมนต์ และการนำเข้าสินค้าทุน ที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 และ 35.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 23.8 ตามลำดับ
1.5 ภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ประเทศไทยประสบปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยมีจำนวน 2.9 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.6 แต่เมื่อรวมในครึ่งปีแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 7.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยก็ยังคงมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
2. แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2553
2.1 จากการประเมินศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศด้านการส่งออกมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 25.7 การขยายตัวของภาคการบริโภคของภาคเอกชน ร้อยละ 4.1 นอกจากนั้น หากสถานการณ์ในประเทศทางด้านการเมืองในช่วงต่อไปไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง ภาคการท่องเที่ยวและภาคการลงทุนมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.7 และ 9.2 ตามลำดับ
2.2 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีจะเริ่มชะลอลงด้วยฐานราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นแล้วในครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา จึงทำให้สามารถรักษาระดับเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 3.0-3.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงร้อยละ 0.-1.25
2.3 สศช.ได้ประเมินศักยภาพของการขยายตัวของ GDP ในปี 2553 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 7.0-7.5 ทั้งนี้ มีเงื่อนไขเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ (1) เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวแต่ไม่กลับสู่ภาวะซบเซา (2) สถานการณ์การเมืองภายในประเทศผ่อนคลายไม่เกิดความรุนแรง (3) ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (4) อัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องยังสนับสนุนการขยายสินเชื่อและการลงทุน และ (5) สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตการเกษตร
2.4 การชะลอตัวของเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี เป็นไปตามวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤต ซึ่งจะขยายตัวสูงมากในระยะแรกจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งชะลอการใช้จ่ายในช่วงวิกฤต และการเริ่มสะสมสต็อกของภาคธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น ต่อจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระดับการขยายตัวปกติ ดังนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจึงจะชะลอลงจากครึ่งปีแรก และในการเข้าสู่ระดับการขยายตัวที่ยั่งยืน ในปี 2554 มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำในไตรมาสแรกของปี 2554 จากฐานการขยายตัวหลังวิกฤตที่สูงในปีนี้
2.5 การฟื้นตัวในระดับสูงของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักในโลก จะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินในภูมิภาค และคาดว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วง ต่อไป ซึ่งจะส่งผลระยะสั้นถึงผู้ประกอบการที่มีรายรับเป็นเงินดอลลาร์ สรอ. แต่ในภาพรวมของการส่งออกจะยังขยายตัวได้ตามการขยายตัวของการค้าโลกและไม่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ
3. แนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2553
3.1 การเร่งรัดฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ
3.2 การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย สิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญๆ
3.3 การดูแลและแก้ไขปัญหาการผลิตภาคการเกษตร รวมถึงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินด่อง
3.4 การเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมโครงการสำคัญ ๆ ภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2554 ให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานและการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 และในไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลกและข้อจำกัดการขยายตัวจากฐานที่สูงขึ้น
3.5 การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มแรงกดดันในการแข็งค่าของเงินบาทและความเสี่ยงด้านความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--