ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 14:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 7/2553

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 7/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญ

คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้มีการประชุมครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยได้พิจารณาเรื่อง การเร่งรัดการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 การประเมินผลการดำเนินโครงการสาขาการศึกษา รวมทั้งการประเมินผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/53 รอบที่ 1 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ดังนี้

1. การเร่งรัดการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

1.1 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานที่ยังไม่ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณที่เป็นโครงการปีเดียว มีระยะเวลาการดำเนินงานและเบิกจ่ายเงิน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับจัดสรรเงิน นั้นควรกำหนดให้ดำเนินการและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีงบประมาณ 2554 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในกำหนดดังกล่าว ควรพิจารณาใช้แหล่งเงินดำเนินโครงการจากเงินงบประมาณแผ่นดินแทน

1.2 ขณะนี้มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หลายโครงการที่ยังไม่สามารถขอรับจัดสรรเงินได้ โดยมีสาเหตุจากการขาดความพร้อม เช่น ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่โครงการได้ เป็นต้น ทำให้การเบิกจ่ายเงินลงทุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ประสบความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรทบทวนเป้าหมายการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงอีกครั้ง และควรมีการพิจารณาทางเลือกระหว่างการเร่งรัดดำเนินการต่อไปหรือยุติโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อนำเงินเหลือจ่ายมาจัดสรรให้แก่โครงการอื่นที่มีความพร้อม พร้อมทั้งมีข้อสังเกตสำหรับคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ว่า การนำเงินเหลือจ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 มาจัดสรรใหม่อาจทำให้โครงการที่ได้รับจัดสรรต้องขยายระยะเวลาดำเนินการและเบิกจ่ายอกไปในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลได้

2. การประเมินผลการดำเนินโครงการสาขาการศึกษา คณะกรรมการฯ มีความเห็นเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินโครงการสาขาการศึกษา สรุปได้ว่า โครงการในสาขาการศึกษาได้รับการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 51,981.45 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ทำให้ประเมินผลโครงการต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศในภาพรวมได้ค่อนข้างยาก โดยมีโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ในวงเงินสูงจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปัจจัยสนับสนุนการศึกษา จำนวน 15,350.04 ล้านบาท โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐานจำนวน 5,697.07 ล้านบาท และโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ จำนวน 8,030.81 ล้านบาท ดังนั้น จึงควรประเมินผลการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นหลัก โดยประเมินผลในด้านความเชื่อมโยงของโครงการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ และอาจนำเสนอตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถทราบถึงผลประโยชน์ของการดำเนินการต่อไป

3. การประเมินผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/53 รอบที่ 1 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คณะกรรมการฯ มีความเห็นเกี่ยวกับการประเมินผลโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2552/53 รอบที่ 1 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สรุปได้ดังนี้

3.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรสามารถกระจายความช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการรวมจำนวน 3.95 ล้านราย นอกจากนี้ การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรยังไม่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการเก็บรักษาผลผลิตที่เกิดจากมาตรการแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และลดปัญหาขาดทุนจากการเสื่อมสภาพของทรัพย์สินที่เก็บรักษาไว้

3.2 เมื่อพิจารณารายได้ชดเชยของเกษตรกรต่อรายได้สุทธิของพืชบางชนิด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนที่สูง อาจสะท้อนให้เห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เหมาะที่จะทำการเพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหากเกษตรกรปลูกพืชชนิดนี้ต่อไปก็จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ดังนั้น เพื่อลดภาระของรัฐบาลและเพื่อให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร รัฐบาลจึงควรดำเนินมาตรการควบคู่กับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ดังนี้ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร (2) การจัดทำระบบการประกันภัยพืชผลที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ (3) การกำหนดยุทธศาสตร์การระบายสินค้าที่อยู่ในมือของรัฐบาลให้เหมาะสมกับฤดูการผลิตและภาวะตลาด

3.3 การผลิตในภาคการเกษตรอาจมีการใช้สารเคมีหรือใช้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การดำเนินนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรในระยะต่อไปอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงควรมีมาตรการปรับโครงสร้างการผลิตในข้อ 3.2 ด้วย รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร โดยมุ่งลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

3.4 การประเมินผลโครงการประกันรายได้เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลในด้านการลดลงของหนี้สินของเกษตรกรโดยควรพิจารณาหนี้สินของเกษตรกรให้ครอบคลุมถึงหนี้คงค้างของเกษตรกรที่ยังไม่ครบกำหนดชำระด้วย เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ของโครงการในด้านการลดหนี้สินของเกษตรกรอย่างแท้จริง

4. สรุปมติคณะกรรมการฯ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการ ดังนี้

4.1 ประสานคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อรับข้อสังเกตของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ในเรื่องการกำหนดระยะเวลาดำเนินการและเบิกจ่ายของโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินเหลือจ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

4.2 ประเมินผลโครงการสาขาการศึกษาที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ได้แก่ โครงการปัจจัยสนับสนุนการศึกษา จำนวน 15,350.04 ล้านบาท โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน จำนวน 5,697.07 ล้านบาท และโครงการพัฒนาครูทั้งระบบจำนวน 8,030.81 ล้านบาท โดยประเมินผลในด้านความเชื่อมโยงของโครงการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ และพิจารณานำเสนอตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถทราบถึงผลประโยชน์ของการดำเนินการต่อไป

4.3 ประเมินผลโครงการประกันรายได้เกษตรกรเพิ่มเติม โดยให้ความสำคัญกับการประเมินผลในด้านการลดลงของหนี้สินของเกษตรกร และพิจารณาให้ครอบคลุมถึงหนี้คงค้างของเกษตรกรที่ยังไม่ครบกำหนดชำระด้วย เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ของโครงการในด้านการลดหนี้สินของเกษตรกรอย่างแท้จริง

4.4 นำเสนอผลการประเมินโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อคณะรัฐมนตรีในประเด็น ดังนี้

4.4.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรสามารถกระจายความช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการรวมจำนวน 3.95 ล้านราย นอกจากนี้ การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผูกพันของภาครัฐในการเก็บรักษาผลผลิตและลดปัญหาขาดทุนจากการเสื่อมสภาพของทรัพย์สินที่เก็บรักษาในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรด้วย

4.4.2 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ควรดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรควบคู่กับมาตรการด้านการเกษตร ดังนี้ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร (2) การจัดทำระบบการประกันภัยพืชผลที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ (3) การกำหนดยุทธศาสตร์การระบายสินค้าที่อยู่ในมือของรัฐบาลให้เหมาะสมกับฤดูการผลิตและภาวะตลาด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ