โครงการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 3 (โครงการเงินกู้ปี พ.ศ. 2554 - จำเป็นเร่งด่วน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 14:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 3 (โครงการเงินกู้ปี พ.ศ. 2554 - จำเป็นเร่งด่วน) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของแหล่งเงิน เงื่อนไขการกู้เงินตามความเหมาะสมและจำเป็น และดำเนินการตามขั้นตอนของข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการใช้เงินกู้เพียงบางส่วน และการจัดทำการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนทางการเงินของการลงทุนไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนงบประมาณในการดำเนินการโครงการฯ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานว่า

1. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้ดำเนินงานพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติ โดยใช้งบประมาณจาก โครงการความร่วมมือในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JBIC) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 1 และ 2 เพื่อการก่อสร้างอาคารห้องปฏิบัติการเนื้อที่ 12,000 ตารางเมตร จัดหามาตรฐานแห่งชาติ และจัดจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2551

2. จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) แผนแม่บทการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2559) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 และมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ และการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติด้านฟิสิกส์ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 โดยใช้งบประมาณจากโครงการเงินกู้ (Project Loan)

3. ปัจจุบันสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติสามารถสถาปนาหน่วยวัดแห่งชาติตามข้อกำหนดสากลและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จำนวน 452 รายการวัด โดยได้รับการประกาศความสามารถด้านการวัดและการสอบเทียบบนเว็บไซต์ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการชั่ง ตวง วัด (Bureau International des Poids et Mesures : BIPM) และสามารถให้บริการสอบเทียบมาตรฐานด้านการวัดได้จำนวน 478 รายการวัดและสามารถผลิตวัสดุอ้างอิงด้านเคมีได้ 4 ชนิด โดยหน่วยวัดแห่งชาติและการบริการสอบเทียบดังกล่าวจะเป็นด้านฟิสิกส์เป็นส่วนใหญ่

4. เพื่อให้การพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการด้านการวัดในประเทศ โดยเฉพาะการวัดด้านเคมีและชีวภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการส่งออก เป็นต้น การตรวจสารตกค้างและปนเปื้อนในอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้การวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ อันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประกอบกับแนวโน้มทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ซึ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศดังกล่าว การดำเนินงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ และการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติด้านฟิสิกส์ ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศที่พัฒนาแล้วในการยกระดับความสามารถด้านการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก ในขณะที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติไม่มีงบประมาณรองรับการพัฒนาดังกล่าว จึงได้หารือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) เพื่อการจัดทำโครงการเงินกู้ (Project Loan) ผลจากการหารือสรุปได้ว่า ความร่วมมือระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และ JICA ภายใต้โครงการเงินกู้นั้นมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประสิทธิภาพในการดำเนินงานโครงการเงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมาของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีผลสำเร็จเป็นอย่างดี และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติกับ JICA ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคให้เข้มแข็งขึ้นด้วย

5. เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ และการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติด้านฟิสิกส์ เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2559) และทันต่อการแก้ปัญหาคุณภาพสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการส่งออก โดยการพัฒนาด้านมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการในประเทศได้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติขอนำเสนอโครงการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 3 (โครงการเงินกู้ปี พ.ศ. 2554 — จำเป็นเร่งด่วน) เพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยมีระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2558 หากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 การดำเนินงานโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ และการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติด้านฟิสิกส์ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2559) ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารห้องปฏิบัติการทางเคมีและชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางของประเทศในการพัฒนาวัสดุอ้างอิงมาตรฐานที่จำเป็นในการวัดการวิเคราะห์และการทดสอบ โดยหน่วยงานใดๆ ซึ่งมีพันธกิจเกี่ยวข้องกับการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบด้านเคมีและชีวภาพสามารถมาใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ได้การจัดหาอุปกรณ์มาตรฐาน และการจัดจ้างที่ปรึกษา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ