มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 14:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 จำนวน 9 เรื่อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง พ.ศ. 2553 — 2556 (ฉบับทบทวน)

มติที่ประชุม

1.1 รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง พ.ศ. 2553 — 2556 (ฉบับทบทวน)

1.2 เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมในการอนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจากมลพิษอุตสาหกรรมที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 3 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 36.14 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (1 มิถุนายน 2553 — 31 พฤษภาคม 2555

ทั้งนี้ มอบหมายให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการในการพิจารณาปรับพื้นที่ศึกษาของทั้ง 3 โครงการ ให้มีความสอดคล้องครอบคลุมและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ รวมทั้งควรศึกษาข้อมูลในเชิงลึกและกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อบ่งชี้ว่าสารมลพิษตัวใดที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น วงเงินงบประมาณไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินต่อไป

1.3 เห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและกำหนดการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดระยอง 2) คณะอนุกรรมการด้านเทคนิคเพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบการแก้ไขปัญหามลพิษของอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง 3) คณะอนุกรรมการพหุภาคีเพื่อกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 — 2554 และ 4) คณะอนุกรรมการศึกษาความสัมพันธ์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนกับปริมาณสารมลพิษอากาศในพื้นที่จังหวัดระยอง และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง พ.ศ. 2553 — 2556 จำนวน 2 คณะ คือ 1) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหามลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง และ 2) คณะอนุกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่จังหวัดระยอง ตามที่ ทส. เสนอ ทั้งนี้ มอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำคำสั่งแต่งตั้งและเสนอประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาลงนามต่อไป

2. การขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา และพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

มติที่ประชุม

2.1 เห็นชอบให้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา และพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรจุไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยแนบแผนที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ชุ่มน้ำประกอบการนำเสนอด้วย

2.2 มอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการ ดังนี้

2.2.1 ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา และพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ” ต่อไป

2.2.2 ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ถึงคุณค่า ความสำคัญ และประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและความภาคภูมิใจแก่ประชาชนในพื้นที่และในประเทศ

2.2.3 เร่งรัดการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญเร่งด่วนสมควรได้รับการเสนอเป็น แรมซาร์ไซต์เพิ่มเติมที่เหลือ ทั้งนี้ ในการนำเสนขอความเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแรมซาร์ไซต์ ขอให้นำเสนอแผนที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

2.2.4 ในการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแรมซาร์ไซต์ให้จัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำต่อไป

3. การรับรองโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (Partnership of the Conservation of Migratory Waterbirds and Sustainable Use of their Habitat in the East Asian — Australasian Flyway)

มติที่ประชุม

3.1 เห็นชอบในการรับรองข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย

3.2 มอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานประสานงานกลางโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

3.3 เห็นชอบตามความเห็นของ ทส. ในการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เป็นพื้นที่เครือข่ายอนุรักษ์นกอพยพตามโครงการความร่วมมือพันธมิตรฯ

3.4 มอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับข้อสังเกตของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

3.4.1 เพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในข้อตกลงโครงการความร่วมมือพันธมิตรฯ และเห็นควรให้มีผู้แทนของกรมปศุสัตว์เข้าร่วมเป็นกรรมการหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฯ และติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ

3.4.2 ปรับถ้อยคำในความเห็นของ ทส. ภายใต้หัวข้อ “ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือพันธมิตรฯ” จากเดิม ข้อ 2) สนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและ ส่วนราชการในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์ของนกอพยพ โดยมิต้องกำหนดให้พื้นที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็น ข้อ 2) สนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและส่วนราชการในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์ของนกอพยพ โดยกำหนดให้พื้นที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์

4. โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร — ระนอง ของกรมทางหลวง

มติที่ประชุม

4.1 เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร — ระนอง ของกรมทางหลวง ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และ โครงการร่วมกับเอกชนด้านคมนาคม ในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552

4.2 ให้กรมทางหลวงนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

5. โครงการหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ

มติที่ประชุม

5.1 เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ในการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 โดยให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพิ่มเติมมาตรการป้องกันไฟป่าในมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการหอดูดาว แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ โดยประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินการด้วย

5.2 ให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) วท. นำความเห็นของคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี ในการใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1 เอ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพื่อก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติต่อไป

6. การปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด

มติที่ประชุม

6.1 เห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด และมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษนำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาลงนาม

6.2 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบกออกประกาศกำหนดวิธีการตรวจ วัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด โดยอิงมาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามเพื่อใช้เป็นเกณฑ์การตรวจสภาพ รถยนต์ประจำปีและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

7. การกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

มติที่ประชุม

เห็นชอบกับร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ และร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ได้ปรับแก้ไขตามมติคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552 โดยมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษนำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฉบับ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาลงนามต่อไป

8. การปรับปรุงค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย

มติที่ประชุม

เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผามูลฝอยเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ และ 2) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย ตามความเห็นของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552 โดยมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษนำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฉบับเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาลงนามต่อไป

9. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยข้อร้องเรียนโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ และปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

มติที่ประชุม

9.1 เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการกับร่างคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 2 คณะ

9.2 เห็นชอบให้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 คณะ ตามที่ ทส. เสนอ โดยให้ฝ่ายเลขานุการฯ ตรวจสอบและปรับปรุงถ้อยคำในร่างคำสั่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งให้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน

9.3 เห็นชอบกับการมอบหมายให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้ง 10 คณะ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว

9.4 เห็นชอบกับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยข้อร้องเรียนโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามที่ ทส. เสนอ

9.5 มอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำคำสั่งแต่งตั้งและเสนอประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาลงนามต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ