ผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ครั้งที่ 3/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 15:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ครั้งที่ 3/2553 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เสนอ สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

คณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุมภักดีศรีสงคราม ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. รายงานความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง สรุปได้ดังนี้

1.1 โครงการขนถ่ายขยะมูลฝอยออกจากบ่อฝังกลบขยะ โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด วงเงิน 270.00 ล้านบาท ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นโครงการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการจัดเก็บขยะมูลฝอยจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย บ้านเนินพยอมเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 33 ไร่ และนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศประกวดราคา คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างได้ภายใน 20 กันยายน 2553 ซึ่งมีความล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ให้รัดกุม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน (วันละประมาณ 90 ตัน) ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีปริมาณมากกว่า 350,000 ตัน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการหาผู้รับจ้าง

1.2 โครงการก่อสร้างขยายเขตจำหน่ายน้ำประปา พื้นที่อำเภอเมืองระยอง โดยการประปาส่วนภูมิภาค วงเงิน 139.2971 ล้านบาท (งบกลางปี 2553 วเงิน 134.5412 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาคสมทบ 4.7559 ล้านบาท) เป็นการปรับปรุงเส้นท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดจ้าง โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เดือนสิงหาคม 2553 ระยะเวลาก่อสร้าง 210 วัน กำหนดแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สำหรับความล่าช้าในการจัดจ้าง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ การประกาศข้อกำหนดขอบเขตงานมีการร้องเรียน จึงต้องมีการปรับข้อกำหนดขอบเขตงานเพื่อความรัดกุมและเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีศักยภพาสูง สำหรับการดำเนินงานโครงการในส่วนที่ใช้งบประมาณของการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการประปาเขตนั้น ปัจจุบันทำสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกรกฎาคม 2553

1.3 โครงการสร้างปรับปรุงท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด และเทศบาลเมืองบ้านฉาง โดยการประปาส่วนภูมิภาค วงเงิน 173.1879 ล้านบาท (งบกลางปี 2553) เป็นการปรับปรุงเส้นท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำในพื้นที่ของเทศบาลเมืองมาบตาพุด และเทศบาลเมืองบ้านฉาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดจ้าง โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เดือนสิงหาคม 2553 ระยะเวลาก่อสร้าง 220 วัน กำหนดแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สำหรับความล่าช้าในการจัดจ้าง เนื่องจากต้องมีการปรับข้อกำหนดขอบเขตงานใหม่เช่นเดียวกัน

1.4 โครงการพัฒนาศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง โดยกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 235.7601 ล้านบาท (งบกลางปี 2553 จำนวน 73.2781 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลมาบตาพุดจาก 120 เตียง ให้เป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ขนาด 200 เตียง และพัฒนาโรงพยาบาลระยองเป็น Excellence Center ด้านพิษวิทยา ปัจจุบัน การจัดซื้อครุภัณฑ์ (1)รถพยาบาล ลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้ว (2) ครุภัณฑ์การแพทย์ อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขาย (3) พัฒนาห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลระยอง ลงนามในสัญญาจ้างแล้ว สำหรับสิ่งก่อสร้าง (1)อาคารพิเศษ 60 ห้อง อยู่ระหว่างการเสนอปลัดกระทรวงฯ อนุมัติสั่งจ้าง (2) อาคารผู้ป่วยนอก — ในอยู่ระหว่างเสนอปลัดกระทรวงฯ อนุมัติสั่งจ้าง (3) อาคารหน่วยจ่ายกลาง/ปรับปรุงศูนย์อาชีวฯ / ถนนคอนกรีต ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553

1.5 โครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง โดยกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 58.7864 ล้านบาท (งบกลางปี 2553 จำนวน 24.2288 ล้านยาท) เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบ/ตรวจหาความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนจากมลพิษในพื้นที่ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ 6 ตำบล ปัจจุบันดำเนินการตรวจสุขภาพแล้ว รวม 8,218 คน คิดเป็นร้อยละ 82.18 จากจำนวนเป้าหมาย 10,000 คน สำหรับการจัดซื้อรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ 2 คัน จำนวน 6.8 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อ 11 มิถุนายน 2553 อยู่ระหว่างส่งมอบครุภัณฑ์ 120 วัน โดยมีผลการตรวจสุขภาพถึงปัจจุบัน ดังนี้

1) การตรวจหาอนุพันธ์ของสารเบนซีน (t-t muconic acid) จากตัวอย่างที่ส่งตรวจโรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 8,212 คน ได้รับผลการตรวจ 2,892 คน แบ่งกลุ่มได้ดังนี้ (1) กลุ่มปกติ/เสี่ยงน้อย ร้อยละ 96.9 (2) กลุ่มเสี่ยงปานกลาง ร้อยละ 2.6 และ (3) กลุ่มเสี่ยงสูง ร้อยละ 0.5

2) การตรวจโลหะหนัก (กลุ่มเป้าหมาย 500 คน) มีผลการตรวจดังนี้ กลุ่มที่ 1 ปกติ จำนวน 326 คน (ร้อยละ 65.2) และกลุ่มที่ 2 ผิดปกติ จำนวน 174 คน (ร้อยละ 34.8) โดยพบสารปรอทร้อยละ 0.2 และสารหนูร้อยละ 34.6

3) การตรวจเลือด/ปัสสาวะ (ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง/การทำงานของตับ/การทำงานของไต/เบาหวาน) ผลการตรวจส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

1.6 ความเห็นของที่ประชุม

1) การบริหารจัดการโครงการขนถ่ายขยะมูลฝอยออกจากบ่อฝังกลบขยะ การคัดเลือกผู้รับเหมาจะต้องมีความโปร่งใส และถูกต้องตามระเบียบ โดยผู้ที่จะมาดำเนินการขนย้ายต้องเป็นมืออาชีพ และระหว่างการขนย้ายต้องมีการจัดการอย่างรัดกุมมีประสิทธิภาพ เช่น มีการห่อบรรจุขยะเป็นก้อนก่อนขนย้าย ทั้งนี้ ควรมีการตั้งคณะกรรมการ โดยมีผู้แทนชุมชนร่วมเป็นกรรมการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนระหว่างการขนย้ายขยะ และขอให้ เทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดทำแผนปฏิบัติการภายหลังจากลงนามในสัญญาจ้างให้ชัดเจน สำหรับแนวทางการจัดการขยะในอนาคตเพื่อความยั่งยืน จำเป็นต้องมีการวางแผนเตรียมการสำหรับระยะยาวและมองภาพรวมอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการลดปริมาณขยะ การรณรงค์คัดแยกขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งพิจารณาการก่อสร้างเตาเผาขยะที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

2) การประชาสัมพันธ์โครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และจังหวัดระยองควรมีการประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นระยะต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในความจริงใจของภาครัฐที่จะพยายามแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม

2. ผลการประชุมหารือ เรื่อง การจัดตั้งกองทุนในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

2.1 สืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ได้มีมติมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ประสานงานเชิญผู้ประกอบการร่วมประชุมหารือ เพื่อร่างกรอบแนวทางการจัดตั้งกองทุน โดยจัดประชุมหารือจำนวน 2 ครั้ง มีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1) รูปแบบกองทุน (1) ผู้ก่อตั้งกองทุนควรเป็นผู้ประกอบการในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (2) พื้นที่ครอบคลุมการประกาศเขตควบคุมมลพิษ และพื้นที่ตามขอบเขตรายงาน EHIA (3) ควรมีแผนการดำเนินการในระยะยาว เพื่อหารายได้อย่างต่อเนื่อง

2) การระดมเงินกองทุน เพื่อให้มีเงินทุนสม่ำเสมอ ควรพิจารณาจัดเก็บเงินจาก (1) ปริมาณการใช้สาธารณูปโภค (2) พื้นที่ที่ใช้ในการดำเนินการ (3) สัดส่วนระหว่างปริมาณการใช้สาธารณูปโภค และพื้นที่

3) การบริหารจัดการกองทุน (1) การจัดตั้งและบริหารกองทุน ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน (2) เงินทุนประเดิม ขึ้นอยู่กับขอตเขตกิจกรรม

4) กิจกรรมเป้าหมายของกองทุน เน้น 3 กิจกรรม ได้แก่ (1) สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (2) สุขภาพ (3) การศึกษา

2.2 ความเห็นของที่ประชุม การบริหารจัดการกองทุนควรให้ภาคประชาชนมามีส่วนร่วมมากขึ้น สำหรับการระดมเงินกองทุน ควรพิจารณาการเก็บเงินจากสัดส่วนการปล่อยมลพิษด้วย

3. แผนการยกระดับศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมระยองเป็นสถาบันภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเสนอแผนการยกระดับศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมระยองเป็นสถาบัน ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 / 2553 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

3.1 การจัดตั้งสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ควรจัดตั้งที่กระทรวงสาธารณสุข และจัดตั้งสาขาพื้นที่ 5 แห่ง โดยสาขาพื้นที่แรก คือ ระยอง

3.2 สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาพื้นที่ระยอง ควรประกอบด้วยหน่วยงานด้านบริหาร ด้านวิชาการ และด้านบริการ โดยมีภารกิจย่อย 4 ด้าน คือ (1) งานเตรียมพร้อมและตอบโต้อุบัติภัยสารเคมี (2) งานเฝ้าระวังสุขภาพ (3) งานตรวจ วินิจฉัย รักษา และห้องปฎิบัติการ และ (4) งานวิจัยและพัฒนา

3.3 บุคลากรสาขาพื้นที่ระยอง จำนวน 54 คน ประกอบด้วย (1)กลุ่มภารกิจคลีนิก และอุบัติภัยสารเคมี และ (2) กลุ่มภารกิจเฝ้าระวังโรค วิจัยพัฒนา และข้อมูล

3.4 งบประมาณสาขาพื้นที่ระยอง ควรเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการภาครัฐ (กระทรวงสาธารณสุข) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณปีละ 89 ล้านบาทในช่วงปี 2554-2557 และตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป ปีละ 45 ล้านบาท สำหรับ (1) งบพัฒนาบุคลากร (ผลิตพยาบาล)(2) งบครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้าง และ (3) งบเฝ้าระวังสุขภาพ

4. รายละเอียดโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ระยะต่อเนื่อง: แผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมสืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 /2553 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ที่เห็นชอบในหลักการแผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง วงเงินรวม 31.0 ล้านบาท โดยขอให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งกรมควบคุมมลพิษและเทศบาลเมืองมาบตาพุดได้นำเสนอรายละเอียดโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ระยะต่อเนื่อง : แผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง ต่อที่ประชุม สรุปได้ดังนี้

4.1 โครงการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง (VOCs) และป้ายแสดงผล คุณภาพสิ่งแวดล้อม (Display Board) (กรมควบคุมมลพิษ) : ติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง (VOCs) และป้ายแสดงผล ในพื้นที่ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 2 สถานี ได้แก่ (1) ศูนย์วิจัยพืชไร่ และ (2) ชุมสายโทรศัพท์ระยอง เพื่อเสริมประสิทธิภาพระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้สมบูรณ์มากขึ้น และรายงานสถานการณ์มลพิษให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทันเหตุการณ์ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 13,000,000 บาท (สถานีละ 6,500,000 บาท)

4.2 โครงการก่อสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำและติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ (เทศบาลเมืองมาบตาพุด) : ติดตั้งระบบเตือนภัย และเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ เชื่อมโยงข้อมูลและแสดงผลของคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่ติดตั้งจุดตรวจวัดเข้ากับระบบ SCADA ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ใน 4 สถานี ได้แก่ (1) คลองบางเบิด (2) คลองพะยูน (3) คลองห้วยใหญ่ (4) คลองมาบข่า รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,000,000 บาท (สถานีละ 500,000 บาท)

4.3 โครงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน (เทศบาลเมืองมาบตาพุด) : จัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับการติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม แบบ Real Time ทั้งในระดับเตือนภัย (Warning Level) และระดับวิกฤต (Critical Level) รวมถึงการรับแจ้งเหตุต่างๆ ที่ส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม รวมงบประมาณทั้งสิ้น 16,000,000 บาท

4.4 การบริหารจัดการข้อมูลและการรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม :

1) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธาน กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ประธานคณะกรรมการชุมชน 5 ชุมชน เป็นกรรมการ และมีนายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด เป็นกรรมการและเลขานุการ

2) เชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพน้ำและอากาศระหว่างหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง แบบ Real Time และรายงานผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม ข่าวประชาสัมพันธ์ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ มายังศูนย์ เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน ณ เทศบาลเมืองมาบตาพุดด้วยระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

4.5 ความเห็นของที่ประชุม

1) การรายงานผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม ควรเป็นการตรวจวัดเวลาที่เกิดขึ้นจริงและ รายงานผลได้ทันที รวมถึงควรใช้สัญลักษณ์ที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้สามารถรายงานผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเตือนภัยด้านมลพิษแก่ประชาชนได้อย่างทันเวลา

2) การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน และการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำหรับการบริหารจัดการศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน ควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจจัดตั้งในลักษณะคณะกรรมการไตรภาคีระหว่างประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้คณะกรรมการมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในการร่วมกันบริหารจัดการ และตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม

5. เรื่องอื่น ๆ ผู้แทนภาคประชาชนได้ชี้แจงถึงปัญหาผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่มาบตาพุด สรุปได้ว่าปัจจุบันมีการกัดเซาะชายฝั่งจำนวนมาก ทำให้มีพื้นที่บางส่วนหายไปและบางพื้นที่มีที่ดินงอกขึ้นมา ส่งผลให้ชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและกรรมสิทธิ์ที่ดินที่งอกขึ้นมาใหม่

6. มติคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ครั้งที่ 3/2553

6.1 รับทราบความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง โดยมอบหมายหน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

1) เทศบาลเมืองมาบตาพุด เร่งรัดหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการขนถ่ายขยะมูลฝอยออกจากบ่อฝังกลบขยะเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินงานต่อไป

2) เทศบาลเมืองมาบตาพุด (1) จัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการโครงการขนถ่ายขยะมูลฝอยภายหลังจากลงนามในสัญญาจ้างแล้ว เพื่อที่ชุมชนจะได้รับทราบความก้าวหน้าและสามารถตรวจสอบการดำเนินโครงการตามกำหนดเวลา (2) พิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมซึ่งมีภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาการป้องกันผลกระทบต่อชุมชนระหว่างการขนย้ายขยะมูลฝอย

3) การประปาส่วนภูมิภาค จัดทำรายชื่อชุมชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาระบบประปา ทั้ง 2 โครงการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้รับทราบและติดตาม/ตรวจสอบความก้าวหน้าโครงการได้

6.2 ให้ความเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ระยะต่อเนื่อง ประกอบด้วย (1) โครงการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง และป้ายแสดงผล คุณภาพสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ) จำนวน 13 ล้านบาท (2)โครงการก่อสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำและติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ จำนวน 2 ล้านบาท และ (3) โครงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพ สิ่งแวดล้อมในชุมชน จำนวน 16 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 31.0 ล้านบาท (เทศบาลเมืองมาบตาพุด) และให้นำเสนอคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้มีภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรม

6.3 มอบหมายให้เทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการแก้ปัญหาการ กัดเซาะชายฝั่งและที่ดินงอกในพื้นที่มาบตาพุดให้กับชุมชน ร่วมกับจังหวัดระยอง และหากมีปัญหาในการดำเนินงาน ขอให้นำเสนอในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดครั้งต่อไป

6.4 รับทราบผลการประชุมหารือ เรื่อง การจัดตั้งกองทุนในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และแผนการยกระดับศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมระยองเป็นสถาบันภายใต้กระทรวงสาธารณสุข

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ