รายงานการดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 15:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานการดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองและรายงานผลการสำรวจอารมณ์ทางการเมืองของคนไทย

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และรายงานผลการสำรวจอารมณ์ทางการเมืองของคนไทย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า การสำรวจอารมณ์ทางการเมืองของคนไทย ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2553 เนื่องจากอารมณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะที่รุนแรงมีความสัมพันธ์กับความเครียดและโอกาสที่จะเกิดความรุนแรง โดยในระยะแรกทำทุกสัปดาห์ โดยสุ่มตัวอย่างครั้งละ 1,000 คน ในทุกภาคเพื่อประมวลภาพรวมทั้งประเทศได้ดังนี้

  • เมษายน — พฤษภาคม 2553 เป็นระยะวิกฤต ผู้มีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรงจะอยู่ในระดับร้อยละ 26 โดยเฉลี่ย
  • มิถุนายน 2553 เป็นระยะรุนแรง ผู้มีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรงจะอยู่ในระดับร้อยละ 20 โดยเฉลี่ย
  • กรกฎาคม 2553 เป็นระยะคลี่คลาย ผู้ที่มีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรงจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยตลอด

กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของการสำรวจดังกล่าว จึงได้ขอให้กรมสุขภาพจิต ดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดโดยขยายจำนวนจังหวัดเป็น 19 จังหวัด และสุ่มตัวอย่าง 5,000 ราย เพื่อให้สามารถประเมินรายภาคได้ ที่ผ่านมาได้สำรวจไป 2 ครั้ง คือ เดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม ปรากฏผลดังนี้

1) ภาพรวมของผู้มีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรงเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 15.72 เป็นร้อยละ 18.55 เป็นการเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในภาวะที่ไม่รุนแรง (ต่ำกว่าร้อยละ 20)

2) เหตุผลสำคัญที่ทำให้เพิ่มขึ้น น่าจะมาจากข่าวสารบ้านเมือง เรื่องความขัดแย้งไทย เขมร และการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องเขาพระวิหาร ดังจะเห็นได้ว่ามีการพาดหัวข่าว 51 หัวในหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม 2553 มีสถานการณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องการหาทางออก โดยเป็นเรื่องที่มีลักษณะของความเป็นห่วงบ้านเมืองและชาตินิยมค่อนข้างสูง

3) เมื่อวิเคราะห์รายภาคพบว่า

3.1 กทม.และภาคเหนือ อยู่ในลักษณะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 16 และร้อยละ 13 ตามลำดับ

3.2 ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่สูงขึ้นบ้าง จากอิทธิพลข่าวดังกล่าว โดยเพิ่มจากร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 22

3.3 ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากมีความรู้สึกตอบสนองต่อข่าวมาก หรืออยู่ในใกล้พื้นที่ปัญหา จึงเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 18

จากการสำรวจอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนพบว่า มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงสู่ภาวะปกติอย่างช้า ๆ เพราะความขัดแย้ง และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวยังเป็นปัจจัยที่ดำรงอยู่ เมื่อมีข่าวและสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนก็จะทำให้สัดส่วนของผู้ที่มีความรู้สึกรุนแรง เพิ่มขึ้นได้เป็นครั้งคราว ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการไม่ให้สัดส่วนของผู้ที่มีความรู้สึกรุนแรงมากเกินไป (มากกว่าร้อยละ 20)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ