การจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 15:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เพื่อให้เป็นกลไกสำหรับการตัดสินใจในด้านนโยบายร่วมกันในประเด็นที่สำคัญ ๆ รวมทั้งมีการประสานงานในระดับสูง เพื่อให้การเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนเป็นไปอย่างมีเอกภาพ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า

1. ตามที่ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ร่วมกันลงนามประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ สิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียนรุ่นปัจจุบันและอนาคตให้มีการดำรงชีวิตที่ดี มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยจะต้องเร่งสร้างประชาคมที่ประกอบด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ภายในปี 2558

2. กฎบัตรอาเซียนข้อ 13 ระบุให้รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักระดับชาติในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถดำเนินงานในกรอบความร่วมมือกับอาเซียนในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเพื่อตอบสนองเป้าหมายของอาเซียนที่ต้องการเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ดังกล่าว โดยสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ มีเอกภาพและช่วยกำหนดนโยบายสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ กรมอาเซียนได้ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติตามกฎบัตรอาเซียน และข้อ 8 ของ กฎบัตรอาเซียนยังระบุให้รัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะมนตรีประสานงานอาเซียนซึ่งมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การประสานประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน (cross — cutting issues) ดังนั้น การมีคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ จึงเป็นการพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าวในภาพรวมซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งหมายของกฎบัตรอาเซียนที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและความร่วมมือระหว่างกันในด้านนโยบาย รวมทั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการฯ จะทำให้ กต. สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ การประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับข้อตัดสินใจของอาเซียน และการดำเนินงานตามแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและ วัฒนธรรม ในฐานะคณะมนตรีประสานงานอาเซียนให้เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย

3. คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทน เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงหรือผู้แทน จำนวน 19 คน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ร่วมเป็นกรรมการ อธิบดีกรมอาเซียน เป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมอาเซียน จำนวน 2 คน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 27 คน มีอำนาจหน้าที่

3.1 กำหนดหรือเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และท่าทีของไทยในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมืออาเซียน

3.2 ประสานนโยบายและท่าทีในการดำเนินการต่าง ๆ ในกรอบความร่วมมืออาเซียน

3.3 เตรียมความพร้อมให้หน่วยงานต่าง ๆ ในการเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

3.4 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมซึ่งอาจประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนภาคประชาสังคม

3.5 ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนที่ 3 แนวนโยบาย ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (4) บัญญัติให้ “พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ... ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ...” ดังนั้น การจัดตั้งคณะกรรมการฯ จึงน่าจะเป็นแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนจัดตั้งคณะกรรมการ ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ แล้วมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ