การยกระดับหัวหน้าคณะผู้แทนในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบการยกระดับหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี จากระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

2. อนุมัติในหลักการองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับเปลี่ยนองค์ประกอบได้ตามสารัตถะที่เกี่ยวข้องของการประชุมโดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีก ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งหน่วยงานที่อยู่ในคณะกรรมการร่วมฯ แต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานโดยตรวจสอบให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยฯ ครั้งที่ 4 ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า

1. ระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia - CICA) ครั้งที่ 3 ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในโอกาสดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าพบและหารือกับนายอาห์เหม็ด ดาวูโตลู (Ahmet Davutog) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี และมีดำริร่วมกันที่จะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี ครั้งที่ 4 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยฝ่ายตุรกีรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.1 ไทยและตุรกีได้จัดทำความตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2532 ซึ่งกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ทุก 2 ปี และได้มีการประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2533 ที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2542 ที่กรุงอังการา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22-23 ธันวาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ

1.2 ในระหว่างการเยือนตุรกีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้เสนอให้เลื่อนระดับหัวหน้าคณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายในการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ จากระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งฝ่ายตุรกีตอบรับด้วยดี โดยฝ่ายตุรกีได้ออกกฤษฎีกายกระดับการประชุมฯ เป็นระดับรัฐมนตรีตามข้อเสนอของฝ่ายไทยแล้ว หัวหน้าคณะผู้แทนฯ ของฝ่ายตุรกีจะเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้รับผิดชอบในเรื่องนี้ สำหรับหัวหน้าคณะผู้แทนฯ ของฝ่ายตุรกีในการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4) คือ นาย Faruk Nafiz Ozak รัฐมนตรีอาวุโส

2. การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 4 นี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีโอกาสทบทวนและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในด้านการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาทางการค้า การแสวงหาลู่ทางความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกัน ตลอดจนเป็นโอกาสในการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ตุรกี ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับตุรกีอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับตุรกีในมิติเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย และโดยที่ ฝ่ายไทยยังไม่ได้ดำเนินการเลื่อนระดับหัวหน้าคณะผู้แทนการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ จากระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ เป็นกลไกการดำเนินนโยบายและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับตุรกี ที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการเลื่อนระดับหัวหน้าคณะผู้แทนการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยฯ ดังกล่าว

3. คณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 23 คน ร่วมเป็นกรรมกร ผู้อำนวยการกองยุโรป 2 เป็นกรรมการและเลขานุการ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษา รวมองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 31 คน มีอำนาจหน้าที่กำหนดท่าทีและเป้าหมายของฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี และอำนาจหน้าที่อื่นอีก 4 ประการ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานโดยตรวจสอบให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ