ร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 09:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เสนอผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด และให้แจ้งเวียนความเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ทราบและถือปฏิบัติตามข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อไป

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกอบคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและข้อมูลต่างๆ แล้ว มีความเห็นสรุปได้ดังนี้

1. ข้อดีและข้อเสียของการยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน

1.1 ข้อดีของการยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการ

(1) การนำข้อพิพาททางสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยตรง ทำให้สามารถรักษาประโยชน์ของรัฐและสาธารณะได้ดีกว่าการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท เนื่องจากในกรณีที่เป็นสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองเป็นผู้เชี่ยวชาญหลักกฎหมายปกครองต่างจากอนุญาโตตุลาการซึ่งมักจะแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเอกชนซึ่งเหมาะสมสำหรับการระงับข้อพิพาทในทางธุรกิจของเอกชน

(2) เป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือความขัดแย้งของประโยชน์ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้บริหารของหน่วยงานของเจ้าของโครงการ หรือบุคคลภายนอก แล้วแต่กรณี ได้เข้าไปมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐ เช่น เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้รับสัมปทาน หรือเคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทผู้รับสัมปทาน หรือมีความใกล้ชิดกับบริษัทผู้รับสัมปทาน เป็นต้น และบุคคลเหล่านั้นอาจเป็นผู้มีอำนาจในการตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือได้รับการตั้งให้เข้าปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการเพื่อระงับพิพาทในโครงการ ดังกล่าว โดยมีการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นกลางในการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในคดีนั้นไว้

1.2 ข้อเสียของการยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการ

(1) ทำให้ข้อพิพาททางสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนในสัญญาทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือสัญญาทางแพ่งหรือข้อพิพาททางสัญญานั้นจะมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทั้งสิ้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท

(2) ทำให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายภายใน วิธีการระงับข้อพิพาท และกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศต่าง ๆ และอาจทำให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาทตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีมากขึ้น

(3) เป็นการกระทบต่อเจตนารมณ์ในการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ เพื่อพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อันจะเป็นการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลอีกทางหนึ่ง

(4) อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนหรือความตกลงการค้าเสรี โดยรัฐคู่เจรจาอาจไม่ประสงค์จะเจรจากับประเทศไทย หากไม่ยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพราะเป็นการขัดกับหลักที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นหัวใจสำคัญของความตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุน

2. ผลกระทบต่อการส่งเสริมให้มีการยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยและไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม

โดยที่ปัจจุบันการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในนานาอารยประเทศ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย และให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายอนุญาโตตุลาการของต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้นักธุรกิจและนักกฎหมายต่างประเทศเลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ในการดำเนินการอนุญาโตตุลาการ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้จัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty — BIT) ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่างๆ จนถึงปัจจุบันรวม 42 ฉบับ โดยแบ่งเป็นประเทศในสหภาพยุโรป เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรสวีเดน สาธารณรัฐโปแลนด์ เป็นต้น การยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการอาจเป็นการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาหรือความตกลงต่างๆ กับนานาประเทศ เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (BIT) หรือข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรี (FTA) หรือกรณี ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินต่างๆ รวมตลอดถึงแหล่งเงินทุนจากองค์กรช่วยเหลือรายใหญ่

3. แนวทางปฏิบัติของต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน

3.1 ประเทศที่ให้มีการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐอิตาลี สาธารณรัฐอาร์เจนตินา เครือรัฐออสเตรเลียสาธารณรัฐอินเดีย เป็นต้น

3.2 ประเทศที่ยังมีข้อจำกัดการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส (มีข้อจำกัดห้ามหน่วยงานของรัฐใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท เว้นแต่บทกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้) สหพันธ์รัฐรัสเซีย ยูเครน ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย (มีข้อจำกัดห้ามมิให้มีการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ) และประเทศเวเนซูเอลา (ที่ยอมรับให้มีการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทเชิงพาณิชย์เท่านั้น)

4. ผลการยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการที่มีต่อกฎหมายเฉพาะ

การยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการตามร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมนั้น ไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะอื่น ๆ กล่าวคือ

4.1 กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องมีการระงับข้อพิพาทต้องกระทำโดยอนุญาโตตุลาการ เช่น มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บัญญัติว่า “ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการที่รัฐมนตรีสั่งให้ผู้รับสัมปทานแก้ไขเหตุที่จะสั่งเพิกถอนสัมปทานตามมาตรา 52 และข้อพิพาทที่เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าได้มีการปฏิบัติตามสัมปทานหรือไม่ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ดำเนินการระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามวิธีการที่กำหนดในสัมปทาน และในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ หรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการภายในเวลาที่กำหนด ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิหรือประโยชน์ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเพิกถอนสัมปทานได้” กรณีนี้ การยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการตามร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ และหน่วยงานของรัฐยังคงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะนั้น

4.2 กรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าอาจใช้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น มาตรา 201 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ในกรณีที่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์มีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง หรือระหว่างสมาชิกกับลูกค้าของสมาชิก คู่พิพาทอาจยื่นคำร้องต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอให้มีการชี้ขาดข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ” กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ แต่เป็นการนำวิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้เมื่อเข้าเงื่อนไขของกฎหมาย ดังนั้น การยกเลิกระบบอนุญาโตตุลาการจึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้

5. ความจำเป็นในการแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีหลักการที่เป็นไปตามกฎหมายแม่บทว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRL Model Law on International Commercial Arbitration) และสอดคล้องกับหลักกฎหมายอนุญาโตตุลาการในหลายประเทศที่กำหนดให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททางสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนและเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุนทั่วไปจากต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย ซึ่งการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อห้าม มิให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททางสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนดังกล่าว ทำให้บทกฎหมายภายในและแนวทางการระงับข้อพิพาททางสัญญาดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การพิจารณาและวินิจฉัยคดีโดยศาล เท่านั้น ย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน การเจรจาทางการค้า การจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับต่างประเทศ และการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย

6. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ

ปัญหาการที่หน่วยงานของรัฐหลายแห่งต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ มิได้มีสาเหตุมาจากบทบัญญัติมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2544 ที่บัญญัติให้คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ แต่ปัญหาดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุมาจากขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

6.1 ปัญหาการจัดทำสัญญา

(1) หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้จัดทำสัญญาไม่มีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของสัญญาด้านเทคนิคการเขียนสัญญา และในด้านเนื้อหาสาระของสัญญา จึงร่างสัญญาที่ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียเปรียบ ทั้งๆ ที่ในกรณีที่เป็นสัญญาทางปกครองนั้น ตามหลักของสัญญาทางปกครอง หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดรายละเอียดของสัญญาที่ทำให้หน่วยงานของรัฐได้เปรียบเอกชนได้

(2) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนมีพฤติการณ์ฉ้อฉล เอื้อประโยชน์แก่เอกชน เช่น กรณีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 (ระหว่างบิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจีกับพวก ผู้ร้อง กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้าน) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวโดยปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ และในขณะลงนามไม่มีการว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านวิศวกรรมในการก่อสร้างจนเป็นเหตุให้ถูกผู้ร้องนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการขยายระยะเวลาและเรียกร้องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเวลาต่อมา เป็นต้น

6.2 ปัญหาการบริหารสัญญา

มีสาเหตุจากหลายประการ เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงงาน การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า การออกแบบผิด การอนุมัติล่าช้า ขาดการประสานงานที่ดีของฝ่ายต่างๆ เหตุสุดวิสัย สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การหยุดงานและการขาดแคลนแรงงานหรือวัสดุ เป็นต้น

6.3 ปัญหาการตั้งอนุญาโตตุลาการ

อนุญาโตตุลาการซึ่งจะทำหน้าที่ในการระงับข้อพิพาททางสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน นอกจากต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่กำลังมีข้อพิพาทนั้นแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองในกรณีที่เป็นสัญญาทางปกครอง แต่ปรากฏว่าในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในกรณีพิพาทที่ผ่านมานั้น ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมักจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเอกชน ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน จึงไม่สามารถชี้ขาดข้อพิพาทได้ถูกต้องตามหลักกฎหมายปกครองเหมือนกับการวินิจฉัยโดย ศาลปกครอง

ดังนั้น อาจสรุปสาเหตุที่หน่วยงานของรัฐตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการได้ว่า เกิดจากปัญหาการจัดทำสัญญาปัญหาการบริหารสัญญา และปัญหาการตั้งอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้เกิดจากระบบอนุญาโตตุลาการซึ่งมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกว่าการดำเนินคดีในศาล ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยทางการบริหารงานของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ตามร่างกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแก้ไข

7. ข้อเสนอแนะ

7.1 ในชั้นการตรวจพิจารณาร่างสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนนั้น หน่วยงานของรัฐควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังนี้

(1) ในกรณีร่างสัญญาสัมปทานหรือร่างสัญญาที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและให้เกิดความรอบคอบในการจัดทำร่างสัญญา ก็ควรจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องในพื้นที่ปฏิบัติการตามร่างสัญญานั้น เข้าร่วมกันเป็นคณะกรรมการตรวจพิจารณาร่างสัญญา เพื่อให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับอุปสรรคต่าง ๆ ในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการตามสัญญาและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามข้อสัญญา พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นร่วมกันกับคู่สัญญา เช่น ปัญหาการส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการตามสัญญาล่าช้าจากสาเหตุต่างๆ การยื่นแบบและอนุมัติแบบล่าช้า หรือการประท้วงต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมิให้เกิดเป็นข้อพิพาทต่อไป

(2) ในข้อสัญญาควรกำหนดให้มีวิธีการระงับข้อพิพาทเบื้องต้นขึ้นในหน่วยงานเจ้าของโครงการเสียก่อนที่จะเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดอันได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation) โดยมีบุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางให้การช่วยเหลือคู่สัญญาในการหาทางออกของปัญหาความขัดแย้ง โดยคู่สัญญาจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจในการบรรลุข้อตกลงร่วมกันเพื่อระงับข้อพิพาทนั้นเอง ซึ่งการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยนี้ จะทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้มีโอกาสรับทราบถึงข้อโต้แย้ง ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามสัญญา เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง การตีความในข้อสัญญา หรือเหตุสุดวิสัย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวได้รับการแก้ไขและหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว

7.2 การบริหารสัญญา

(1) ควรจัดให้มีหน่วยงานของรัฐ หรือระบบการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อสัญญาเพื่อให้การปฏิบัติตามข้อสัญญามีความต่อเนื่องและถูกต้องตามสัญญา

(2) เมื่อพบการปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา หรือมีความล่าช้าในการดำเนินงานให้รีบแจ้งคู่สัญญาทราบ เพื่อเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาและระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

7.3 การพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ นอกจากต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระตามมาตรา 19 แล้ว ความรอบรู้และความเชี่ยวชาญในสัญญาภาครัฐของผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการถือเป็นสิ่งสำคัญในกรณีที่เป็นสัญญาทางปกครอง จึงควรกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือทำการแต่งตั้งบุคคลที่มีประสบการณ์ในการพิจารณาคดีปกครอง หรือพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือทำการสอนวิชากฎหมายมหาชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น

7.4 การแก้ไขปัญหาการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน อาจกระทำโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งวิธีการนี้ก็มีการใช้กันในบางประเทศ เช่น ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย สหพันธ์รัฐรัสเซีย และยูเครน การที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่อง การทำสัญญาระหว่างรัฐกับ เอกชน กำหนดว่า “1. สัญญาทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางการปกครองหรือไม่ ไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็นหรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็น ราย ๆ ไป” ทั้งนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาหรือความตกลงต่าง ๆ กับนานาประเทศ เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (BIT) หรือข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรี (FTA) หรือกรณีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินต่างๆ รวมตลอดถึงแหล่งเงินทุนจากองค์กรช่วยเหลือรายใหญ่ รวมถึงปัญหาอื่นใดที่จะตามมาในภายหลังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงอาจนำประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นหรือข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นั้น เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ ได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้ตรวจสอบถึงความเหมาะสมของสัญญาได้ด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ