เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้
1. ให้นำกรอบแนวคิดและทิศทางการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะทำงานโครงการความร่วมมือส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อประเทศไทยใสสะอาด ข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.ร. และข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ไปรวมเข้ากับมาตรการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐได้กำหนดไว้
2. ให้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 และวันที่ 29 กันยายน 2552 โดยให้มีอำนาจเพิ่มเติมในการ “แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการหรือสนับสนุนภารกิจ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ มอบหมาย”
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 และวันที่ 29 กันยายน 2552 คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 รับทราบสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อพิจารณา และข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ จากคณะกรรมการฯ ไปจัดทำเป็นมาตรการตลอดจนแนวทางในการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตภาครัฐ ซึ่งผลการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
1. ยธ.ได้เข้าร่วมพิจารณาข้อเสนอของ วธ.เกี่ยวกับวาระแห่งชาติ การส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตของคนไทย และข้อเสนอโครงการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ของสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งการพิจารณาได้กำหนดแนวทางดำเนินงานกรณีเร่งด่วนเพื่อลด ละ เลิก การทุจริต 3 กิจกรรม ประกอบด้วยการรณรงค์สร้างค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต การศึกษากรณีการจัดซื้อจัดจ้าง และการศึกษากรณีทุจริตในการแต่งตั้ง ข้าราชการ ทั้งนี้ เมื่อภาคีทุกภาคส่วนได้พิจารณาถึงกรอบแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมทั้งสามดังกล่าวแล้ว พบว่ากิจกรรมที่กำหนดขึ้น มีความสอดคล้องกับมาตรการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ดังนี้
1.1 กิจกรรมที่ 1 การรณรงค์สร้างค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต มีความสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ มาตรการที่ 1 การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกสร้างค่านิยมใหม่สังคมไทยต้านภัยทุจริต ซึ่งมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีให้แก่สังคมไทย และเป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกและทัศนคติเชิงบวก ในการเป็นพลังขับเคลื่อนสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้แก่สังคมไทยควบคู่ไปกับการปลูกฝังสร้างค่านิยมใหม่ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยการกำหนดบทลงโทษทางสังคม (SOCIAL SANCTION) ภายใต้กรอบแนวคิด “คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงเยาวชน เข้ามามีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนของสังคมที่จะร่วมกันปกป้องรักษาไว้ซึ่งสังคมที่มีมาตรฐานความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ เป้าหมายหลักในการดำเนินงาน คือ เด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา โดยการกำหนดรูปแบบเนื้อหาสาระการเรียนการสอนเกี่ยวกับคุณค่าของความดีมีวินัย น้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนผลกระทบที่ดีอันเกิดจากการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ของสังคม หรือผลเสียที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับของสังคมชุมชน ในแต่ละช่วงชั้นของสถาบันการศึกษาให้สอดคล้องกับระดับความรู้ ความเข้าใจของผู้เรียน รวมทั้งให้มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงผูกพันกันเป็นระบบเพื่อเป็นการวางรากฐานของจิตสำนึก ควบคู่กับการหล่อหลอมค่านิยมใหม่ให้ซึมซับและเข้าถึงจิตใจของเด็กและเยาวชน ที่จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของสังคมไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องเป็นรูปธรรม
1.2 กิจกรรมที่ 2 การศึกษากรณีทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง/การกำหนดราคากลาง และกิจกรรมที่ 3 การศึกษากรณีทุจริตประพฤติมิชอบในการแต่งตั้งข้าราชการ มีความสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ มาตรการที่ 4 การศึกษารูปแบบการทุจริตเพื่อนำสู่การปฏิรูปกระบวนงานภายในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีเป้าหมายในการศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเข้าถึงสาเหตุของสภาพปัญหาการทุจริตในแต่ละประเภทในสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีปัจจัยหรือมูลเหตุจูงใจมาจากเรื่องใด มีรายละเอียดและแผนประทุษกรรมในการกระทำความผิดแต่ละรูปแบบเป็นอย่างไร การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นกับลักษณะงานในตำแหน่ง หน้าที่ และหน่วยงานองค์กรใด ตลอดจนส่งผลกระทบสร้างความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพื่อวิเคราะห์นำสู่การกำหนดแนวทางป้องกัน แก้ไข ปรับปรุง ตลอดจนพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมสภาพปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้กำหนดประเด็นการทุจริตซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในสังคมปัจจุบันที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดราคากลาง การทุจริตการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ การทุจริตในภาคการค้าการลงทุนภายในประเทศ และการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. เพื่อให้การดำเนินงานตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนของคณะทำงานโครงการความร่วมมือส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อประเทศไทยใสสะอาด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.ร. เกี่ยวกับโครงการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ และสอดคล้องกับวาระแห่งชาติการส่งเสริมคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตของคนไทย ของ วธ. ภายใต้สถานการณ์และบริบทในการปฏิรูปประเทศไทยอันเป็นนโยบายเร่งด่วนของชาติสามารถบูรณาการแผนงาน มาตรการ ตลอดจนแนวทางให้เป็นไปในภาพรวมเดียวกัน อีกทั้งเพื่อเป็นการเร่งรัดในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการดำเนินงานสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพจริงจังต่อเนื่อง และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (2 มิถุนายน 2553) แต่โดยที่มติคณะรัฐมนตรี (6 พฤษภาคม 2551 และ 29 กันยายน 2552) มิได้กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ ยธ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 สิงหาคม 2553--จบ--