การปฏิรูปอำนาจการออกเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและการเพิ่มทุนสามัญทั่วไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 11:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การปฏิรูปอำนาจการออกเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและการเพิ่มทุนสามัญทั่วไป ปี 2553

ของกลุ่มธนาคารโลก

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบการซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงและการซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนสามัญทั่วไปของ IBRD ในวงเงินรวมประมาณ 1,171 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี และให้ส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป

2. เห็นชอบการปฏิรูปอำนาจการออกเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและการเพิ่มทุนสามัญปี 2553 ของ IFC ในวงเงินประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงการคลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปและ ขอรับจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2554 จากสำนักงบประมาณ วงเงินประมาณ 30 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี(ปีงบประมาณ 2554-2556)

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ตามฉันทามติมอนเทอร์เรย์ในปี 2545 (The 2002 Monterrey Consensus) ที่ประชุมสนับสนุนให้ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศส่งเสริมให้มีการเพิ่มเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาในการตัดสินใจ การสื่อสารระหว่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการและการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาสำหรับประเทศ เหล่านั้น

2. ธนาคารโลกได้ส่งเสริมให้มีการเพิ่มเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก มีมติเห็นชอบในการทบทวนข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารในการดำเนินการปฏิรูปเรื่องการเพิ่มเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและเรียกร้องให้เร่งดำเนินการปฏิรูปดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2553

3. ธนาคารโลกได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในธนาคารโลกพิจารณาลงคะแนนในแบบฟอร์มร่างข้อมติเกี่ยวกับการปฏิรูปอำนาจการออกเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและการเพิ่มทุนสามัญปี 2553 ของกลุ่มธนาคารโลก

4. การปฏิรูปอำนาจการออกเสียง ฯ และการเพิ่มทุนใน IBRD ส่งผลทำให้อำนาจการออกเสียงของกลุ่มออกเสียงของไทย (ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ฟิจิ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล สิงคโปร์ ไทย ตองก้า และเวียดนาม) เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2.54 เป็นร้อยละ 3 ของอำนาจการออกเสียงทั้งหมด และประเทศไทยจะมีอำนาจการออกเสียงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.41 เป็นร้อยละ 0.49 ทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเพื่อเพิ่มอำนาจการออกเสียงดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประมาณ 1,171 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับ 34 บาท) ประกอบด้วย

4.1 ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 2,417 หุ้น โดยจะชำระส่วนที่เรียกชำระทันที (Paid In) ร้อยละ 6 คิดเป็นเงินจำนวน 17.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีระยะเวลาชำระภายใน 4 ปี

4.2 ซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนสามัญทั่วไป จำนวน 2,342 หุ้น โดยจะชำระส่วนที่เรียกชำระทันที (Paid In) ร้อยละ 6 คิดเป็นเงินจำนวน 16.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีระยะเวลาชำระภายใน 5 ปี ซึ่งการซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงและการซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนสามัญทั่วไปของ BIRD ครั้งนี้ ในวงเงินรวมประมาณ 1,171 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นการผูกพันงบประมาณในระยะยาว ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 วรรค 2 ก่อนใช้เป็นท่าทีของไทยในการเพิ่มทุนของธนาคารฯ ดังกล่าว

5. การเพิ่มทุนแบบพิเศษของ IFC จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 836 หุ้น เพื่อรักษาอำนาจการออกเสียงของประเทศไทยให้เท่าเดิมที่ร้อยละ 0.46 ของอำนาจเสียงทั้งหมด โดยจะมีการชำระเต็มจำนวน คิดเป็นเงินจำนวน 0.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี ไม่มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละปีไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่จะต้องขอรับจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2554 จากสำนักงบประมาณ วงเงินประมาณ 30 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2554- 2556)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ