รายงานผลการหารือเพื่อแสวงหาลู่ทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทยและตะวันออกกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 11:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการหารือเพื่อแสวงหาลู่ทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทยและตะวันออกกลาง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญคณะทูตประเทศตะวันออกกลางในประเทศไทย (อิหร่าน ตุรกี และโอมาน) เดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี และยะลา) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมหารือร่วมกับภาคธุรกิจและศึกษาลู่ทางทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศตะวันออกกลาง มีผลการหารือ ดังนี้

1. นโยบาย Lima Dasar รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายโครงการ Lima Dasar เพื่อผลักดันความร่วมมือใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) กับ 5 รัฐภาคเหนือของ มาเลเซีย (กลันตัน เคดะห์ เปรัค ปะลิส และปีนัง) ใน 5 สาขา คือ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ธุรกิจ โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมฮาลาล

ทั้งนี้ จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ Lima Dasar (Lima Dasar Summit) ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและมุขมนตรีของ 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย โดยจะเชิญนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นประธานในการเปิดการประชุม ในระหว่างวันที่ 24 — 26 กันยายน 2553 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยจะมีการประชุมหารือขยายการค้าการลงทุนสองฝ่าย กิจกรรม Business Forum จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ใน 5 สาขาเศรษฐกิจ และกิจกรรม Trade Exhibition เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ของไทย และ ODOI (One District One Industry) ของมาเลเซีย

2. การส่งเสริมธุรกิจอาหารฮาลาล มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาเขตปัตตานี จะมีส่วนในการสนับสนุนด้านวิชาการ และการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โดยใช้ความร่วมมือของ 3 เสาหลักคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ภายใต้ 2 กลยุทธ์หลัก คือ กลยุทธ์ Food Science Development และ กลยุทธ์ Corporation University

3. การค้า การลงทุนกับประเทศตะวันออกกลาง สมาชิกกลุ่มนักธุรกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสนอประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพ และมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ การผลักดันพระราชบัญญัติอาหารฮาลาล การสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการเอื้ออำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบในการผ่านแดนและการค้าชายแดน และการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

4. ความเห็นของคณะทูตฯ

4.1 ตุรกี ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนอิหม่ามโดยขอให้ประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น สามารถใช้ Halal Business Forum ในองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference : OIC) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2553

4.2 อิหร่าน ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมามีคณะผู้แทนการค้าจากอิหร่านมาเยือนประเทศไทยแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนี้ หากไทยต้องการขยายตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อิหร่านยังสามารถเป็นประตูกระจายสินค้า (Gateway) ไปยังอิรักและอัฟกานิสถาน พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นข้าวไทยราคาสูงกว่าข้าวอินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม จึงนำเข้าข้าวไทยน้อย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ