สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 12:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2553) ของกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 24-30 สิงหาคม 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 14 จังหวัด 43 อำเภอ 156 ตำบล 740 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร มุกดาหาร สระบุรี และจังหวัดนครนายก ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 28,882 ครัวเรือน 81,723 คน อพยพ 116 ครัวเรือน 461 คน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย 87,414 ไร่ ผู้เสียชีวิต 1 ราย (นายสำราญ วังคำ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 160 หมู่ที่ 4 ตำบลโพนงาม อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร)

1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตรมุกดาหาร สระบุรี และจังหวัดนครนายก ดังนี้

1) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอปาย 7 ตำบล 52 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 40 ครัวเรือน 150 คน บ้านเรือนราษฎรเสียหายบางส่วน 1 หลัง ฝาย 3 แห่ง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ หมู่ที่ 1,2,5 ตำบลแม่ฮี้ และอำเภอเมือง ที่ตำบลปางหมู (หมู่ที่ 11)

2) จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอขุนตาล เทิง เวียงเชียงรุ้ง เชียงของ และอำเภอพญาเม็งราย รวม 15 ตำบล 64 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 9,330 ครัวเรือน 24,540 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 5,400 ไร่

3) จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม 2553 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งน้ำ ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ริม สันทราย หางดง และอำเภอเมือง รวม 24 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 450 ครัวเรือน 2,000 คน

4) จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง แม่เมาะ และอำเภองาว รวม 6 ตำบล 26 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

5) จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองม่วงไข่ ร้องกวาง สอง และอำเภอลอง รวม 14 ตำบล ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

6) จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในลำห้วยน้ำหินไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอนาน้อย 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,984 ครัวเรือน 9,120 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

7) จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 150.0 มม. ที่อำเภอฟากท่า ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในอำเภอฟากท่า ตำบลฟากท่า (หมู่ที่ 3,4,10) และเขตเทศบาลตำบลฟากท่า ระดับน้ำสูงประมาณ 0.80 เมตร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 700 ครัวเรือน 2,100 คน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

8) จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง 3 ตำบล 33 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลไทรย้อย (หมู่ที่ 1-17) ตำบลวังโพรง (หมู่ที่ 1-9) และตำบลวังยาง (หมู่ที่ 1-7) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,650 ครัวเรือน 6,600 คน

9) จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เวลา 05.00 น. น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี หล่มเก่า หนองไผ่ และอำเภอวังโป่ง รวม 12 ตำบล 79 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

10) จังหวัดมุกดาหาร ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรใน 7 อำเภอ 35 ตำบล 367 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมือง นิคมคำสร้อย ดอนตาล ดงหลวง คำชะอี ว่านใหญ่ และอำเภอหนองสูง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,827 ครัวเรือน 22,500 คน อพยพ 116 ครัวเรือน 461 คน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายสำราญ วังคำ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 160 หมู่ที่ 4 ตำบลโพนงาม อำเภอคำชะอี (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 บริเวณสะพานห้วยแคน บ้านโพนไฮ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง เนื่องจากถูกน้ำป่าพัดตกสะพาน) พื้นที่การเกษตรเสียหาย 73,164 ไร่ ถนน 205 สาย ท่อระบายน้ำ 25 แห่ง ฝาย 12 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 414 บ่อ

11) จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 5 อำเภอ 16 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอบ้านหมอ วิหารแดง เมือง หนองแค และอำเภอแก่งคอย ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

12) จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 2 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อำเภอปากพลี และอำเภอบ้านนา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 51 ครัวเรือน 153 คน พื้นที่การเกษตร 50 ไร่

13) จังหวัดพิจิตร ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2553 เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ 6 ตำบล ได้แก่ อำเภอดงเจริญ และอำเภอทับคล้อ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

1.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 3 คัน และกำลังพล จำนวน 12 นาย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2553

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร สนับสนุนเรือท้องแบน 7 ลำ กำลังพล 10 นาย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก จัดส่งกำลังพล 15 นาย เรือท้องแบน 5 ลำ รถบรรทุกติดปั้นจั่น 1 คัน รถส่องสว่าง 1 คัน รถกู้ภัยขนาดเล็ก 1 คัน รถบรรทุก 2 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

2) กรมชลประทาน

ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่าง ๆ ปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 577 เครื่อง ในพื้นที่ 52 จังหวัด

1.4 สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทานถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบแก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยในวันที่ 29-30 สิงหาคม 2553 นายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พร้อมคณะ จากส่วนกลาง เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดแพร่ จำนวน 2,000 ครอบครัว ดังนี้

  • จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 ณ วัดโคกสำราญ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอชนแดน จำนวน 1,000 ครอบครัว
  • จังหวัดแพร่ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ณ โรงเรียนบ้านไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จำนวน 500 ครอบครัว และที่โรงเรียนบ้านห้วยโรงนอก อำเภอร้องกวาง จำนวน 500 ครอบครัว

2) กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดย พลอากาศตรี สรชัย ชีวะกลินศักดิ์ ผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบ ถุงพระราชทาน ที่โรงเรียนบ้านใหม่ผ้าขาว หมู่ที่ 3 ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และที่โรงเรียนวัดวังขอน ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ รวมจำนวน 1,850 ชุด

3) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน และจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมจำนวน 8,009 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงโปรดให้ พลอากาศเอก อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงยังชีพพระราชทาน ถวายพระภิกษุสงฆ์ และมอบแก่ราษฎรที่ประสบภัย ในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2553 พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดน่าน จำนวน 2,493 ถุง ดังนี้
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลา 10.30 น. ณ โรงเรียนฟากท่าวิทยา ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 40 ถุง และมอบแก่ราษฎรที่ประสบภัย จำนวน 1,435 ถุง รวม 1,475 ถุง
  • จังหวัดน่าน เวลา 14.30 น. ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสถาน อำเภอนาน้อย ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 40 ถุง มอบแก่ราษฎรที่ประสบภัย จำนวน 978 ถุง รวม 1,018 ถุง

2. กำหนดการเดินทางไปราชการของผู้บังคับบัญชาระดับสูง

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล)

เมื่อวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายขวัญชัย วงศ์นิติกร) รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ) ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะ เดินทางไปประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มปี 2553 ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุมโรงแรมพลูแมนราชาออคิดขอนแก่น ถนนศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม 2553 — 5 กันยายน 2553

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 30-31 สิงหาคม 2553 ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 กันยายน 2553 ร่องมรสุมพาดจะเลื่อนลงมาผ่านตอนกลางของประเทศไทยและมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่นต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-3 กันยายน 2553 ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลัง ปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดช่วง สำหรับ พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก (LIONROCK)” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นประเทศจีนตะวันออกเฉียงใต้ประมาณในวันที่ 1 กันยายน 2553 พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน และผลิตผลทางการเกษตรของประชาชนแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 สิงหาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ