คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และเมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติดำเนินการตามความเห็นสำนักงาน ก.พ.ต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตามรายงานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติว่า มาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ผู้ซึ่งได้รับใบรับรองเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ (พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551) จากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเพื่อขอรับใบอนุญาตจากสำนักงาน เมื่อได้แจ้งแล้วให้ถือว่านั้นเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าสำนักงานจะมีคำสั่งไม่อนุญาต หรือใบรับรองนั้นสิ้นอายุ แต่โดยที่ใบอนุญาตของผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานมีอายุ 3 ปี ซึ่งหากใบรับรองสิ้นอายุประมาณปลายปี 2554 ตามบทเฉพาะกาลแล้วผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานจะต้องขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 27 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานตามมาตรา 34 (1) และ (2) ที่กำหนดให้ต้องเป็นบริษัทโดยมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และต้องให้มีห้องปฏิบัติการที่มีขีดความสามารถและคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดนั้น ทำให้หน่วยงานที่ให้บริการด้านการตรวจสอบรับรองที่เป็นมิติบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานได้จึงทำให้มีผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะ ให้บริการแก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “บริษัท” ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ร่างมาตรา 3 ยกเลิกมาตรา 3)
2.กำหนดให้แก้ไขบทนิยามคำว่า “ผู้อำนวยการ” เป็น “เลขาธิการ” ในพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ทุกแห่ง (ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3)
3. กำหนดให้เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 2 คน คือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และอธิบดีกรมหม่อนไหม(ร่างมาตรา 6 วรรคแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 วรรคแรก)
4. กำหนดให้กรรมการวิชาการอาจแต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานของรัฐ หรือผู้แทนหน่วยงานของเอกชนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาตรฐานตามประเภท หรือกลุ่มของสินค้าเกษตรที่ได้รับแต่งตั้ง (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 วรรคสามและวรรคสี่)
5. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และตัดความใน (2) ที่กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีห้องปฏิบัติการที่มีขีดความสามารถออก เนื่องจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานบางประเภทไม่จำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการ (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 (1) และยกเลิกมาตรา 34 (2) )
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--