ขออนุมัติงบกลางสำหรับชดเชยค่าปฏิบัติการฉุกเฉินที่สูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับจัดสรร ปี 2552 — 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 15:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับ ชดเชยการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินตามผลการปฏิบัติงานที่ดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และ 2553 ตามเหตุผลความจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่เนื่องจากในชั้นนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องและเหมาะสมตามจริงได้ จึงเห็นควรให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจัดทำรายละเอียดการใช้จ่ายตามเกณฑ์ แล้วขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามความ เห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน รายงานว่า

1. สถิติสาธารณสุขของประเทศไทยในปี 2551

สถิติสาธารณสุขของไทยในปี 2551 พบว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ การได้รับพิษ ถูกทำร้าย คิดเป็นอัตราร้อยละ 66.1 ต่อประชากรแสนคน และการเสียชีวิตจากโรคระบบไหลเวียนเลือดคิดเป็นอัตราร้อยละ 56.0 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับ 2 และลำดับ 4 ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด และข้อมูลการใช้บริการห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤตและเร่งด่วนที่จำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิต อวัยวะ หรือการทำงานของระบบอวัยวะสำคัญที่จำเป็นต่อสุขภาพและ การดำรงชีวิต จำนวนประมาณปีละ 4 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล จำนวนประมาณ 60,000 คน ทั้งนี้ หากมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินดังกล่าวได้ถึงประมาณร้อยละ 15 — 20 หรือจำนวนประมาณปีละ 9,000 — 12,000 คน โดยมีสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยยังมีอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินสูงเพราะว่าไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและทันเวลา เนื่องจากระบบการแพทย์ฉุกเฉินยังไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้ครอบคลุมทุกพื้นที่

2. แนวโน้มการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ในปี 2553

สถิติการออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่ปี 2546 — 2551 มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ ในปี 2546 มีการปฏิบัติการฉุกเฉิน จำนวน 7,736 ครั้ง ปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 64,996 ครั้ง คิดเป็น 8.4 เท่าของปี 2546 ในระหว่างปี 2548 — 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และปี 2552 มีการปฏิบัติการฉุกเฉิน จำนวน 1,063,062 ครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 25 — 30 ต่อปี ดังนั้น ในปี 2553 จึงประมาณการปฏิบัติการฉุกเฉินได้ จำนวน 1,331,585 ครั้ง

3. งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ

ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 — 2551 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 ได้รับ จำนวน 450.00 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 — 2549 ลดลงเหลือ จำนวน 276.00 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มแรกจึงมีการปฏิบัติการฉุกเฉินจำนวนน้อย แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ได้รับ จำนวน 460.00 ล้านบาท และ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ได้รับ 557.72 ล้านบาท

ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้มีการจัดตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) ได้เสนออัตราเหมาจ่ายรายหัว สำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินรวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้วย ในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 โดยสำนักงบประมาณ (สงป.) ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีว่า ในองค์ประกอบของอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้มีค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกหน่วยบริการ จำนวน 15.00 บาทต่อประชากรรวมอยู่ด้วย โดยการบริหารจัดการต้องอยู่ในความรับผิดชอบของ สพฉ. ตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ดังนั้น งบประมาณสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉินในอัตรา 15.00 บาท ต่อประชากร สำหรับประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 47.026 ล้านคน วงเงิน 705.39 ล้านบาท จึงควรโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของ สพฉ. เพื่อบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อจาก สป.สช. แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 สพฉ. ได้รับงบประมาณ จำนวน 502.50 ล้านบาท จำแนกเป็น 2 รายการ คือ

(1) กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 390.25 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 6.23 บาทต่อประชากรทั้งหมด สำหรับชดเชยค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 700,000 ครั้ง

(2) งบบริหารจัดการ จำนวน 112.25 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรนี้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานของ สพฉ.

สพฉ. จึงขอรับการสนับสนุนงบกลางเพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเพิ่มเป้าหมายการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จาก จำนวน 700,000 ครั้ง เป็น จำนวน 900,000 ครั้ง วงเงิน 82.25 ล้านบาท และ จากการรายงานผลการปฏิบัติงานปรากฏว่า มีการปฏิบัติการฉุกเฉินถึง จำนวน 1,063,062 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 163,062 ครั้ง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สพฉ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 444.97 ล้านบาท จำแนกเป็น 2 รายการ คือ

(1) งบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 390.25 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 สำหรับค่าชดเชยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 700,000 ครั้ง

(2) งบบริหารจัดการ จำนวน 54.72 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายประจำของ สพฉ. เท่านั้น ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 57.53 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 51.25 และไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ การตรวจสอบชดเชยค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการพัฒนาบุคลากร

สพฉ. จึงได้เสนอของบกลางเพิ่มเติม จำนวน 133.13 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 44,824,800 บาท เพื่อเป็น ค่าตอบแทนบุคลากรในการปฏิบัติงานรับแจ้งเหตุและสั่งการในชุดปฏิบัติการออกช่วยเหลือในอัตราตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนผู้ปฏิบัติงานนอกเวลา พ.ศ. 2550 ตามความเห็นของ สงป. โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาใช้เงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุขเป็นค่าตอบแทนในส่วนที่ยังขาดอยู่

จากรายงานผลการปฏิบัติการฉุกเฉิน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ปรากฏว่า มีการปฏิบัติการฉุกเฉิน จำนวน 593,684 ครั้ง และเมื่อปรับข้อมูลการประมาณการการปฏิบัติการฉุกเฉินของปีนี้แล้ว คิดเป็นจำนวน 1,331,585 ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 631,585 ครั้ง (เป้าหมาย จำนวน 700,000 ครั้ง) ดังนั้น การปฏิบัติการฉุกเฉินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 — 2553 จะสูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ รวมจำนวน ทั้งสิ้น 794,647 ครั้ง

4. สถานการณ์การเงินของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน

สถานการณ์การเงินของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ณ เดือนเมษายน 2553 มีงบประมาณที่จะจ่ายค่าชดเชยค่าปฏิบัติการฉุกเฉินคงเหลือ จำนวน 114 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการโอนจัดสรรให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินในงวดที่ 3 (เดือนเมษายน — มิถุนายน 2553) ที่จะต้องใช้จ่าย จำนวน 135 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของหน่วยปฏิบัติการในการออกช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน สพฉ. จึงจำเป็นต้องปรับแผนการจัดสรรให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยแบ่งงวดและโอนจัดสรรเงินสำหรับปฏิบัติการฉุกเฉินไปพลางก่อน 2 เดือน (เดือนเมษายน — พฤษภาคม 2553) จำนวน 90 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้กองทุนการแพทย์ฉุกเฉินมีเงินคงเหลือเพียง จำนวน 24 ล้านบาท

ดังนั้น สพฉ. จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบกลางของประเทศเพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าปฏิบัติการฉุกเฉินที่สูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2552 — 2553 ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการโอนจัดสรรให้หน่วยปฏิบัติการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553

5. ในการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 มีมติเห็นชอบและมอบให้ สพฉ. ขอรับการสนับสนุนงบกลางสำหรับชดเชยค่าปฏิบัติการฉุกเฉินที่สูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 — 2553 จำนวน 794,647 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 417,189,675 บาท จำแนกเป็น

5.1 งบชดเชยค่าปฏิบัติการฉุกเฉินที่ผลงานสูงกว่าเป้าหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 163,062 ครั้ง วงเงิน 85,607,550 บาท

5.2 งบชดเชยค่าปฏิบัติการฉุกเฉินที่คาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมายจำนวน 631,585 ครั้ง วงเงิน 331,582,125 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ