รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประจำปี พ.ศ. 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 15:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบให้นำรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ประจำปี พ.ศ. 2551 เสนอต่อสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา และให้สำนักงาน ปปง.รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. รายงานผลการปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ปปง.

1.1 การรับรายงานธุรกรรมและการตรวจสอบวิเคราะห์ธุรกรรมในปี 2551 สำนักงาน ปปง.ได้เริ่มรายงานการทำธุรกรรมจากสถาบันการเงินทั้งสิ้น 1,258,935 ธุรกรรม จำแนกเป็นธุรกรรมเงินสด 577,868 ธุรกรรม ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน 565,344 ธุรกรรม ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 111,551 ธุรกรรม กิจกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 455 ธุรกรรม และรายงานเงินสดข้ามแดน 3,717 ธุรกรรม และได้ดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดจำนวน 3 คดี มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้จำนวน 652,390 บาท

1.2 ตั้งแต่ปี 2543 — สิ้นปี 2551 ได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน จำนวน 699 คดี มูลค่าทรัพย์สินรวม 4,129,010,551.28 บาท และสำนักงาน ปปง.ได้บริหารจัดการและเก็บรักษาไว้ มีมูลค่ารวม 3,205,140,523.49 บาท

1.3 ได้นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดินส่งกระทรวงการคลัง จำวน 71 คดี มูลค่า 33,665,959.80 บาท โดยสรุปการนำส่งสะสมตั้งแต่ พ.ศ. 2544 — สิ้นปี 2551 จำนวน 217 คดี มูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น 304,755,212.51 บาท

1.4 ได้นำทรัพย์สินที่สำนักงาน ปปง.ยึดหรือายัดในกรณีที่เจ้าของสามารถแสดงได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในปี 2551 ส่งคืนทรัพย์สิน จำนวน 9 คดี มูลค่าทรัพย์สินที่นำส่ง จำนวน 24,683,454.74 บาท โดยสรุปการนำส่งสะสมตั้งแต่ พ.ศ. 2546 — สิ้นปี 2551 จำนวน 72 คดี มูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น 571,620,296.39 บาท

2. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน

2.1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย บางครั้งไม่สามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย บางครั้งไม่สามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เนื่องจากพ้นระยะเวลาดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่และดำเนินการได้เฉพาะทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยเท่านั้น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ ผู้เสียหาย จึงควรกำหนดให้พนักงานอัยการที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยสามารถเสนอต่อศาลเพื่อกันส่วนทรัพย์สินให้ผู้เสียหายก่อน

2.2 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีการแก้ไขเพิ่มเติมความผิดมูลฐานอีก 1 มูลฐาน คือ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ซึ่งสำนักงาน ปปง.ได้ขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ.เพื่อให้สามารถรองรับกับปริมาณงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงควรให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนดกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการขยายโครงสร้างและการเพิ่มอัตรากำลังของสำนักงาน ปปง.

2.3 การยกเลิกการจ่ายสินบนรางวัลให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ หรือนำส่งทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำให้ขาดแรงจูงใจในการให้ความร่วมมือกับทางราชการ จึงควรให้มีการ จ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้แจ้งความนำจับหรือนำสืบเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยมีวิธีการดำเนินการและการจ่ายเงินสินบนที่เหมาะสม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ