การลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดพิษณุโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบความก้าวหน้าของผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) พิจารณาดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วม หรือรู้เห็น หรือเป็นตัวการในการกระทำผิดอย่างเคร่งครัด โดยให้โยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีออกนอกพื้นที่ และกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการกระทำผิดเกี่ยวกับการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าอย่างเด็ดขาด

2. ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณาแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เข้มงวดกวดขันและเร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

3. ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรกำชับเจ้าหน้าที่ให้สนับสนุน ส่งเสริมเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ สิทธิครอบครองและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (9 มีนาคม 2553 และ 13 กรกฎาคม 2553) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สั่งการให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ติดตามและ ขยายผลการตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทุกป่าในท้องที่อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย และอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ทส.จึงขอรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินการดังกล่าว ดังนี้

1.1 ผลการดำเนินคดีอาญาที่ 195/2553 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เดินทางไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 รายพันตำรวจโท ภพนครินทร์ ปานทอง กับพวกรวม 8 คน เป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนครไทยมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553

1.2 เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้สั่งการ ดังนี้

1.2.1 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 1 (เชียงใหม่) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 2(พิษณุโลก) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 3 (อุบลราชธานี) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 4 (จันทบุรี) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 5 (ชุมพร) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 6 (กระบี่) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ (ศปย.) ที่ 7 (สงขลา)

1.2.2 ให้กรมป่าไม้จัดทำแผนปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตรวจสอบและลาดตระเวนเพื่อปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ปฏิบัติงานด้านจิตวิทยามวลชนและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ในท้องที่อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย และอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานระยะแรกตั้งแต่ วันที่ 11 สิงหาคม-30 กันยายน 2553

1.3 การขยายผลการตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 2 กรกฎาคม-27 สิงหาคม 2553 สรุปได้ดังนี้

1.3.1 กรมป่าไม้ปฏิบัติงานในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตรวจพบการกระทำผิด 17 คดี ผู้ต้องหา 6 คน พื้นที่ป่าถูกบุกรุก 600 ไร่ ตรวจยึดได้ไม้ท่อนจำนวน 473 ท่อน ไม้แปรรูป จำนวน 1,221 แผ่น/ชิ้น/เหลี่ยม ปริมาตร 106.68 ลูกบาศก์เมตร ไม้ยืนต้นถูกลักลอบกาน จำนวน 408 ต้น

1.3.2 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติงานในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตรวจพบการกระทำผิด จำนวน 9 คดี ผู้ต้องหา 8 คน พื้นที่ป่าถูกบุกรุก 114-1-36 ไร่ ตรวจยึดได้ ไม้ท่อน จำนวน 119 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ไม้แปรรูป ปริมาตร 6.51 ลูกบาศก์เมตร

2. เนื่องจากการกระทำผิดที่ตรวจพบดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่มีนายทุนผู้มีอิทธิพล และบางคดีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนรู้เห็น สนับสนุนหรือเป็นตัวการเสียเอง ส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสืบสวน สอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งอาจทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นหรืออาจมีการช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานระหว่างเจ้าหน้าที่ในอนาคต ทส.ได้พิจารณาแล้วเพื่อให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทส. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ