เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเรียกร้องขอปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ในการประชุม ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 โดยปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาท(จากเดิมราคา 16.50 บาท / กิโลกรัม เพิ่มเป็น 17.00 บาท / กิโลกรัม)

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 มีเกษตรกรจำนวนประมาณ 2,000 คน ได้รวมตัวกันชุมนุม ณ หน้าสำนักงาน อ.ส.ค. มวกเหล็ก ยื่นข้อเรียกร้องให้ อ.ส.ค. ปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ ฯ จากราคา 16.50 บาท/กิโลกรัม เป็น 18.00 บาท / กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป และให้ อ.ค.ส. ใช้มาตรการผ่อนปรนในการกำหนด ค่า Freezing Point ตามที่ได้ผ่อนปรนเป็นเวลา 3 เดือน ไปก่อน จนกว่าคณะกรรมการโคมนมและผลิตภัณฑ์นมจะมีมติกำหนดมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมดิบออกมาบังคับใช้ใหม่

2. การดำเนินงาน

2.1 คณะอนุกรรมการจัดระบบราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม ได้มีการพิจารณาต้นทุนการผลิต เพื่อกำหนดราคารับซื้อน้ำนมดิบ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 แล้วมีมติ ดังนี้

1) เห็นชอบต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบปี 2553 ที่คณะทำงานจัดทำต้นทุนการผลิตน้ำนมโคเสนอ คือ ต้นทุนเฉลี่ยเดือนมกราคม — มิถุนายน 2553 ทั้งประเทศ 13.27 บาท / กิโลกรัม

2) ให้กำหนดราคารับซื้อน้ำนมดิบที่ 17 บาท / กิโลกรัม โดยคิดจากต้นทุนการผลิตบวกกำไรเบื้องต้นของเกษตรกรและค่าบริหารจัดการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขอให้ขึ้นราคาน้ำนมดิบ เมื่อกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมแล้ว

3) ให้มีการทบทวนราคารับซื้อน้ำนมดิบทุก 6 เดือน

4) นอกจากการพิจารณาในเรื่องต้นทุนการผลิตและการกำหนดราคารับซื้อแล้ว คณะอนุกรรมการยังมีข้อคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่จะส่งผลถึงต้นทุนการผลิตและราคารับซื้อ เช่น ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบ การให้ความสำคัญและควบคุมราคาปัจจัยการผลิต เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาราคาอาหารสัตว์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาเรื่องเกษตรกรถูกหักราคาคุณภาพมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมดิบ และการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนมโรงเรียน เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นภาคเรียน หรือเป็นปีการศึกษา

2.2 คณะกรรมการโคนม และผลิตภัณฑ์นม ในการประชุม ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ได้พิจารณาเรื่องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเรียกร้องขอปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบ แล้วมีความเห็น ข้อเสนอแนะ และมติที่ประชุมดังนี้

2.2.1 ความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ

2.2.1.1 การปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบกิโลกรัมละ 0.50 บาท ตามความเห็นและมติของคณะอนุกรรมการจัดระบบราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นมนั้น ได้มีการพิจารณาร่วมกันโดยผู้แทนของทุกภาคส่วนแล้ว ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของเกษตรทั่วประเทศจากภาวะต้นทุนปัจจัยการผลิต และอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่หากมีการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบมากกว่านี้ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบต่อตลาดนมพร้อมดื่ม ซึ่งมีคู่แข่งเป็นสินค้าทดแทนได้ เช่น นมถั่วเหลือง เป็นต้น

2.2.1.2 การปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบครั้งนี้ จะมีผลให้ราคานมโรงเรียนเพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.10 บาท ซึ่งยังไม่เกินราคากลางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 เนื่องจากการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 โดยให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณอาหารเสริม (นม) จัดซื้อจาก อ.ส.ค. โดยวิธีกรณีพิเศษ ได้จัดระบบการผลิต และการส่งมอบผลิตภัณฑ์นมของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยพิจารณาจากแหล่งผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกร ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงงานผลิตและโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตเป็นหลัก ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านขนส่งลง จึงกำหนดราคาจำหน่ายนมโรงเรียน ลดลงจากราคากลางตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 สำหรับนมพาสเจอร์ไรส์ ถุงละ 0.20 บาท และนม ยู.เอช.ทีกล่อง/ซอง ละ 0.25 บาท ยกเว้นพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดสงขลา เฉพาะ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย นาทวี เทพา และจะนะ กำหนดราคาจำหน่ายเท่ากับราคากลางตามมติคณะรัฐมนตรีฯ เนื่องจากมีระยะทางไกลและเป็นพื้นที่เสี่ยง และการปรับราคานมโรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.10 บาท นั้น อาจจะกระทบกับงบประมาณนมโรงเรียนบ้าง แต่สามารถบริหารจัดการได้ โดยปรับสัดส่วนการจัดซื้อชนิดนมพาสเจอร์ไรส์ และนม ยู.เอช.ที ให้เพียงพอกับงบประมาณ และกำหนดราคาจำหน่ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่ากับราคากลางตามมติคณะรัฐมนตรี ฯ เช่นเดิม และปรับจำนวนวันดื่มนมให้เป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับหรือหางบประมาณจากท้องถิ่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ การปรับราคานมโรงเรียนจะมีผลสำหรับสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ โดยผู้ประกอบการยินยอมรับภาระการปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบในสัญญาซื้อขายฉบับเดิมที่ทำไปแล้วกับหน่วยงานผู้ซื้อนมโรงเรียน

2.2.2 มติคณะกรรมการฯ

2.2.2.1 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ ตามความเห็นและมติของ คณะอนุกรรมการจัดระบบราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาท (จากเดิมราคา 16.50 บาท / กิโลกรัม เพิ่มเป็น 17.00 บาท/กิโลกรัม) ทั้งนี้ ให้มีผลนับแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ปรับราคาขายผลิตภัณฑ์นม ในตลาดนมพาณิชย์ได้ และให้มีการทบทวนราคารับซื้อน้ำนมดิบทุก 6 เดือน

2.2.2.2 มอบหมายให้กรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในด้านคุณภาพมาตรฐานน้ำนมดิบและการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้ง เห็นชอบร่างประกาศมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมดิบฉบับใหม่ ตามที่คณะอนุกรรมการมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมดิบเสนอ ซึ่งจะมีบทเฉพาะกาลผ่อนปรนระยะเวลาการหักราคาค่าจุดเยือกแข็ง (Freezing Point) โดยให้ฝ่ายเลขานุการ หารือสำนักกฎหมายในการแก้ไขร่างประกาศ ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนการประกาศต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ