รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำและเผยแพร่รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ซึ่งประเทศไทยได้จัดทำรายงานผลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษฉบับแรกของประเทศในปี พ.ศ.2547 ทั้งนี้ ในปี 2552 ประเทศไทยต้องรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 และได้ดำเนินการจัดทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรระหว่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาหลายด้าน ประกอบด้วย การขจัดความยากจนและความหิวโหย การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การต่อสู้โรคเอดส์ การลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในชุมชนแออัด รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งการบรรลุเป้าหมายท้าทายที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นในเรื่องการลดอัตราการตายของเด็กและพัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ ในพื้นที่ห่างไกลและชายขอบ ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษดังกล่าว สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ผลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในระดับประเทศ ในภาพรวมพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ประเทศไทยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานใหม่ ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

1.1 เป้าหมาย MDG ที่บรรลุแล้วเพิ่มเติมในปี 2552 ได้แก่ (1) เป้าหมาย MDG 2A ให้เด็กทุกคนทั้งชายและหญิงสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาภายในปี 2558 (2) เป้าหมาย MDG+ การลดอัตราการเกิดโรคมาลาเรียใน 30 จังหวัดชายแดนให้เหลือ 1.4 ต่อประชากรพันคนภายในปี 2549 (3) เป้าหมาย MDG 8B การให้ความสำคัญกับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด และ (4) เป้าหมาย MDG 8E การขยายการเข้าถึงยาที่สำคัญจำเป็นในประเทศกำลังพัฒนา

1.2 เป้าหมายที่บรรลุแล้วและยังคงรักษาระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ได้แก่ (1) การลดความยากจนลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2533-2558 (2) การลดความหิวโหยลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2533-2558 (3) การขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาภายในปี 2548 และในทุกระดับการศึกษาภายในปี 2558 (4) การชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี 2558 (5) การลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและส้วมที่ถูกสุขลักษณะครึ่งหนึ่งภายในปี 2558 และ (6) การยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในชุมชนแออัด 100 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2563 ในส่วนเป้าหมาย MDG+ ที่มีโอกาสจะบรรลุ ได้แก่ การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2553

1.3 ความยั่งยืนของความสำเร็จในเป้าหมายที่บรรลุแล้ว พบว่าอาจมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนของความสำเร็จในบางด้าน เช่น อาจเกิดปัญหาอุปสรรคใหม่ๆ ทำให้โอกาสในการบรรลุเป้าหมายลดลง เป้าหมายเหล่านี้ได้แก่ เป้าหมาย MDG 6C เรื่องการชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคสำคัญอื่น ภายในปี 2558 ผลกระทบจาก โรคเอดส์ทำให้อัตราการป่วยและตายด้วยโรควัณโรคไม่มีแนวโน้มลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้นถ้าเกิดการระบาดโรคเอดส์รอบใหม่

1.4 เป้าหมาย MDG+ ที่กำหนดขึ้นเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก และส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ หรือมีโอกาสต่ำที่จะบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ (1) ลดสัดส่วนประชากรยากจนให้ต่ำกว่าร้อยละ 4 ภายในปี 2552 เพราะปัญหาทางการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ (2) ให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นภายในปี 2549 พบว่าอัตรานักเรียนต่อประชากรวัยเรียนรวมสูงร้อยละ 95-96 ต่อเนื่องมา 4-5 ปีแล้ว จึงที่น่าจะบรรลุเป้าหมายได้ในเร็วนี้ (3) การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายภายในปี 2558 มี แนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี (4) การเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภา องค์การบริหารส่วนตำบล และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของราชการเป็นสองเท่าในช่วงปี 2545-2549 มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย (5) การลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีและอัตราส่วนการตายของมารดาในเขตพื้นที่สูงจังหวัดภาคเหนือบางแห่ง และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2548-2558 มีโอกาสต่ำที่จะบรรลุ เนื่องจากอุปสรรคด้านกายภาพและปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ และ (6) การเพิ่มสัดส่วนการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์เป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2549 คือเพิ่มได้ร้อยละ 22 แต่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1.5 เป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งไม่สามารถประเมินความก้าวหน้าได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเป้าหมาย MDGs ที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย หรือมีการปรับเปลี่ยนชุดข้อมูล ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) เป้าหมาย MDG 4A การลดอัตราการตายของเด็กลงสองในสาม (2) เป้าหมาย MDG 5A การลดอัตราส่วนการตายของมารดาลงสามในสี่ (3) เป้าหมาย MDG+ การลดอัตราการตายของทารกให้เหลือ 15 ต่อการเกิดมีชีพพันคน (4) เป้าหมาย MDG+ การลดอัตราการตายของมารดาให้เหลือ 18 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน และ (5) การลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรวัยเจริญพันธุ์ให้เหลือร้อยละ 1 ทั้งนี้ ข้อมูลยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจและพยายามปรับปรุงมาตรฐานและระบบข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแม้จะเป็นผลดีในระยะยาว แต่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประเมินผลการพัฒนาที่ต้องใช้ข้อมูลชุดเดียวกันอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าจะยังไม่สามารถผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย แต่หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ และได้นำไปกำหนดเป็นเป้าหมายของแผนพัฒนาระดับชาติและระดับสาขาในระยะเวลาต่อไป

2. ผลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในระดับจังหวัด เป็นความริเริ่มที่จะนำเป้าหมาย MDGs ไปปรับใช้ในระดับจังหวัดโดยดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นครพนม และตรัง โดยทดลองนำเป้าหมาย MDGs ไปใช้ในการวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาระดับจังหวัด จุดเด่นของการดำเนินงานในระดับจังหวัดคือสามารถเปิดการมีส่วนร่วมได้กว้างขวางกว่าในระดับประเทศ กระบวนการ MDGs จึงเน้นการบูรณาการเป้าหมายและตัวชี้วัด MDGs เข้ากับกระบวนการวางแผนและบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ทั้งนี้ได้มีการปรับ MDGs และ MDG+ และกำหนดตัวชี้วัด MDG* ของจังหวัดเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของแต่ละจังหวัดด้วย จากการติดตามผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษระดับจังหวัด เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตามตัวชี้วัดพบว่า สถานการณ์และแนวโน้มการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน นครพนม และ ตรัง สามารถบรรลุเป้าหมาย MDGs หลายด้านในเรื่องการขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกระดับการศึกษา การลดอัตราการตายของทารก การป้องกันและลดการเกิดโรคมาลาเรีย และการลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ