ร่างกรอบการเจรจาเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย — พม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:26 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกรอบการเจรจาเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย — พม่า ตลอดแนวในกรอบ

ของคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า และกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย — พม่า ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า และกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และให้ส่งรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป จนกว่าการเจรจาด้านเขตแดนกับประเทศพม่าจะเสร็จสิ้น

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า (ฝ่ายไทย) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นประธาน และมีผู้แทนจากส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด กรมแผนที่ทหาร กรมอุทกศาสตร์ กรมการปกครอง กรมเอเชียตะวันออก กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นกรรมการ และมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าจนถึงปัจจุบัน ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ แล้ว 6 ครั้งเมื่อปี 2536, 2538, 2540, 2542, 2545 และ 2548 ทั้งนี้ ฝ่ายพม่า ได้เคยแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่าพร้อมที่จะจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 7 โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเขตแดนไทย — พม่า

2. การเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกในกรอบคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า จะนำไปสู่กระบวนการทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่ในเรื่องเขตแดนในท้ายที่สุด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า หนังสือสัญญาดังกล่าวน่าจะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (โดยคำนึงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551) ดังนั้น ก่อนการเจรจาต่อไปคณะรัฐมนตรีจึงต้องดำเนินการตามวรรคสามของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ กล่าวคือ ให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น และต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ซึ่งในการนี้ได้ดำเนินการให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 190 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

สาระสำคัญของร่างกรอบเจรจา

ให้คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า (ฝ่ายไทย) เจรจากับฝ่ายพม่าเพื่อดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหภาพพม่าให้เป็นไปตามเอกสาร ดังนี้

1. อนุสัญญาระหว่างกษัตริย์สยามกับข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียว่าด้วยเรื่องกำหนดเขตแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างราชอาณาจักรสยามและมณฑลของอังกฤษ คือเทนเนสเซอริม ลงนาม ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1868

2. บัญชีรายชื่อหลักเขตต์แดนระหว่างสยามกับอังกฤษแนบท้ายอนุสัญญาระหว่างกษัตริย์สยามกับข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียว่าด้วยเรื่องกำหนดเขตแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างราชอาณาจักรสยามและมณฑลของอังกฤษคือเทนเนสเซอริมลงนาม ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1868

3. หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษว่าด้วยเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูน ฉบับลงนามวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1883

4. โปรโตโคล (ปฏิญญา) ฉบับลงนามวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1894 และแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม — อังกฤษ จำนวน 3 ระวางแนบท้าย

5. หนังสือแลกเปลี่ยน ฉบับลงนามวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1931 14 มีนาคม ค.ศ. 1932

6. หนังสือแลกเปลี่ยน ฉบับลงนามวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1940

7. หนังสือแลกเปลี่ยน ฉบับลงนามวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1940

8. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลของพระบาทสมเด็จในสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย กับรัฐบาลของประเทศสยาม ว่าด้วยเขตแดนพม่า (ตะนาวศรี) กับประเทศสยาม ฉบับลงนามวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1934

9. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ Sir John Lawrence ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 1868

10. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าเกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย — แม่น้ำรวก ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1991

11. แผนที่และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามความตกลงทุกฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ