รายงานผลการประชุมเขตแดนร่วมไทย - พม่า อย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองเมียวดี ประเทศสหภาพพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมเขตแดนร่วมไทย - พม่า อย่างไม่เป็นทางการ ณ เมือง เมียวดี ประเทศสหภาพพม่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

ด้วยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า (ฝ่ายไทย) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม ไทย — พม่า (Joint Boundary Committee — JBC) ณ เมืองเมียวดี สหภาพพม่า ตามคำเชิญของประธานคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย — พม่า (ฝ่ายพม่า) เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนกับฝ่ายพม่าอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะปัญหาการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของไทยบริเวณแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่พม่าใช้อ้างในการปิดด่านบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนสรุปผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าว ดังนี้

1. นายหม่อง มิ้น ประธาน JBC ฝ่ายพม่า กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้พบกับคณะ JBC ฝ่ายไทย และยินดีที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับการเชิญประชุมอย่างกระชั้นชิด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ที่ได้มีการประชุม JBC ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ก็ยังมิได้มีการจัดการประชุม JBC ครั้งที่ 7 จึงมีปัญหาตามแนวชายแดนเกี่ยวกับเขตแดนอยู่หลายกรณี ประธาน JBC ฝ่ายพม่าเห็นว่า JBC เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาชายแดน และการประชุม JBC อย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ก็ถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการหาข้อมูล เพื่อนำไปสู่การประชุม JBC ครั้งที่ 7 อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ไทยและพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดี มาโดยตลอด เนื่องจากมีเขตแดนติดกันยาวมาก ประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดกัน มีศาสนาและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้ง ผู้นำของทั้งสองประเทศก็มีความพยายาม สร้างเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และอีกไม่นานนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยก็จะเดินทางไปเยือนพม่า ซึ่งจะถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของประเทศทั้งสอง

ประธาน JBC ฝ่ายพม่ากล่าวด้วยว่า เนื่องจากประเทศทั้งสอง มีชายแดนติดกันเป็นระยะทางยาว การเกิดปัญหาตามแนวชายแดนย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ตนเชื่อว่า หากใช้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ และความร่วมมือร่วมใจ ไทยและพม่า ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ท่ามกลางความเข้าใจอันดี เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

2. นายวศิน ธีรเวชญาณ ประธาน JBC ฝ่ายไทย กล่าวว่า เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจทำให้กระทบไปถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกประเด็นเขตแดนออกจากประเด็นอื่น ดังนั้น บทบาทของ JBC ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และหาก JBC สามารถพบปะหารือกันได้อย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนได้เป็นอย่างดีฝ่ายไทยเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ JBC จะต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างดีที่สุด ดังนั้น การพบปะหารือของทั้งสองฝ่ายควรจะเกิดขึ้นบ่อยๆ

3. ประธาน JBC ฝ่ายไทยแจ้งด้วยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ได้กำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการเจรจาด้านเขตแดน กล่าวคือ ต้องมีการเสนอกรอบการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการเจรจา และเมื่อเจรจาแล้ว ต้องเสนอผลการเจรจาแต่ละครั้งให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบด้วย จึงสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะเกิดความล่าช้าจากกระบวนการดังกล่าว จึงขอให้ฝ่ายพม่าได้เข้าใจตามนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของ JBC ฝ่ายไทยขอยืนยันว่า จะผลักดันให้การดำเนินการภายใต้กรอบ JBC มีความคืบหน้าโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากประเด็นเรื่องเขตแดนเป็นความสำคัญสูงสุด ในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

4. ฝ่ายพม่าได้เสนอให้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการโดยมอบหมายให้อธิบดีกรมการกงสุลและกฎหมาย (Consular and Legal Affairs Department) เป็นผู้หารือกับฝ่ายไทย ดังนั้น ฝ่ายไทยได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นประธานในการหารือฝ่ายไทย โดยประธาน JBC ทั้งสองฝ่าย ได้หารือกันแบบ four-eye

5. ผลการหารือระหว่างอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกับอธิบดีกรมการกงสุลและกฎหมายของพม่า

5.1 อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าวว่า การประชุมหารือครั้งนี้ถือเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้น จะไม่มีการบันทึก (record) หรือบันทึกการประชุม (minutes of the Meeting) ทั้งนี้ ฝ่ายไทยต้องขอขอบคุณในความเข้าใจของฝ่ายพม่าเพราะไม่เช่นนั้น ฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ ก่อน

5.2 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามข้อเสนอของฝ่ายพม่าว่า การประชุมครั้งนี้มิได้ประชุมเพื่อให้ได้ข้อสรุปใด ๆ แต่จะเป็นการชี้แจง ส่งข้อความ ท่าทีของแต่ละฝ่ายให้อีกฝ่ายได้รับทราบ

5.3 ฝ่ายพม่าได้ยืนยันหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า ก่อนการดำเนินการก่อสร้างบริเวณแม่น้ำเขตแดน จะต้องมีการแจ้งอีกฝ่ายก่อนเสมอ ซึ่งฝ่ายไทยรับทราบ และ ยืนยันว่า ฝ่ายไทยได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อรักษาตลิ่งและดินแดนฝั่งไทย โดยทำไปด้วยความเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อฝ่ายพม่า อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทย เห็นด้วยว่าในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง จะต้องมีการแจ้งและหารือกันก่อนไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ฝ่ายไทยสร้างหรือฝ่ายพม่าสร้าง

5.4 ปัญหาที่ฝ่ายพม่าได้หยิบยกขึ้นหารือได้แก่ ปัญหาการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณแม่น้ำเมย ปัญหาเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณแม่น้ำปากจั่น ปัญหาเกี่ยวกับเกาะกลางแม่น้ำเมย (บริเวณใต้สะพานมิตรภาพ) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และปัญหาเกาะตายิ้ม (Lone Phaw Gyi) จังหวัดระนอง

(1) ปัญหาการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณแม่น้ำเมย ฝ่ายพม่าแจ้งว่า ฝ่ายพม่าได้ประท้วง 4 ครั้ง และเชิญเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งเข้าพบ 1 ครั้ง และประท้วงผ่านช่องทาง Township Border Committee (TBC) 8 ครั้ง แต่ฝ่ายไทยยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อไป ซึ่งพม่าเห็นว่า การก่อสร้างดังกล่าวทำให้ตลิ่งฝั่งพม่าเสียหาย

(2) ปัญหาเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณแม่น้ำกระบุรี/ปากจั่น จังหวัดระนอง ซึ่งฝ่ายพม่าได้ประท้วงมาแต่ฝ่ายไทยมิได้ยุติการก่อสร้าง

(3) ปัญหาเกาะกลางแม่น้ำเมย ฝ่ายพม่าได้แสดงหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศว่าฝ่ายไทยได้วางสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณเกาะกลางแม่น้ำดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 1994 ส่งผลให้เกาะกลางแม่น้ำกลายเป็นเกาะที่อยู่ติดกับฝั่งไทย ซึ่งแม้ว่าต่อมา ฝ่ายไทยได้ดำเนินการขุดร่องน้ำให้เป็นอย่างเดิม แต่ปัจจุบันร่องน้ำได้หายไปแล้ว จึงขอให้ปรับสภาพให้เป็นเช่นเดิม

(4) ปัญหาเกาะตายิ้ม (Lone Phaw Gyi) ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำปากจั่น ฝ่ายพม่าได้แสดงหลักฐานว่า พม่าน่าจะเป็นเจ้าของเกาะดังกล่าว และประท้วงว่า ฝ่ายไทยได้นำแท่งคอนกรีตไปวางขวางไว้ในแม่น้ำ แม้ว่าหลังจากพม่าได้ประท้วงเป็นครั้งแรก ฝ่ายไทยได้ย้ายแท่งคอนกรีตออกไปแล้ว แต่ยังนำไปไว้บนฝั่ง ซึ่งฝ่ายพม่าเห็นว่าจะกระทบ ต่อทางเดินของแม่น้ำ

5.5 ฝ่ายไทยได้รับทราบปัญหาและท่าทีของฝ่ายพม่า โดยได้ชี้แจงกับฝ่ายพม่าว่า ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ฝ่ายไทยทำไปด้วยความมั่นใจว่า จะไม่กระทบต่อตลิ่งฝั่งพม่า และเป็นการก่อสร้างเพื่อป้องกันมิให้มีการกัดเซาะตลิ่ง อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยตระหนักเป็นอย่างดีว่าในการตัดสินว่าการก่อสร้างของไทยจะกระทบต่อฝั่งพม่าหรือไม่นั้น จะต้องฟังความเห็นของฝ่ายพม่าด้วย ทั้งนี้ หากมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จำเป็นที่จะต้องประชุมหารือร่วมกัน ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยก็ได้แก้ปัญหาทุกปัญหาด้วยความจริงใจ และให้ความสำคัญกับการประท้วงของฝ่ายพม่าทุกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการที่ฝ่ายไทยเคลื่อนย้ายแท่งคอนกรีตออกจากแม่น้ำกระบุรี/ปากจั่น นอกจากนี้ สำหรับกรณีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณแม่น้ำปากจั่น หลังจากที่ฝ่ายไทยได้รับหนังสือประท้วงจากฝ่ายพม่า ฝ่ายไทยโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่เมื่อเดือนมีนาคม 2553 และได้มีหนังสือชี้แจงฝ่ายพม่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ทั้งนี้ จากการตรวจพื้นที่จะเห็นว่า ตลิ่งฝั่งไทยถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง ในขณะที่ฝั่งพม่าเกิดทรายงอก

5.6 ฝ่ายไทยเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายพม่าให้มีคณะกรรมการเทคนิคร่วม ภายใต้กรอบของ JBC เพื่อพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการก่อสร้างบริเวณแม่น้ำ ที่เป็นเขตแดนระหว่างไทย — พม่าตลอดแนว และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและสามารถเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ประเด็นเรื่องแม่น้ำเมยถือเป็น priority ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องหยิบยกขึ้นพิจารณาเป็นประเด็นแรก

5.7 นอกจากนี้ ฝ่ายพม่าได้ขอให้ JBC ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม pre- JBC ซึ่งเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของ JBC ทั้งสองฝ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นก่อนที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JBC ครั้งที่ 7 อย่างเป็นทางการ ซึ่งฝ่ายไทยยินดี

6. ในการหารือแบบ four eye ระหว่างประธาน JBC ทั้งสองฝ่าย ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้จัดตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วมตามข้อ 5.6 โดยแต่ละฝ่ายจะเสนอร่างองค์ประกอบของคณะกรรมการเทคนิคร่วมให้อีกฝ่ายทราบภายใน 1 สัปดาห์ ต่อจากนั้น ฝ่ายไทยจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะจัดให้มีการประชุมทันที

ประธาน JBC ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในหลักการว่า คณะกรรมการเทคนิคร่วมของแต่ละฝ่ายจะมีกรรมการไม่เกินฝ่ายละ 10 คน และได้ตกลงกันด้วยว่า ควรจะมีการตรวจสอบ (monitor) ทางเดินและการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำซึ่งเป็นเขตแดน ทั้งโดยบุคลากรในพื้นที่และโดยแผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อตรวจสอบปัญหาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที

7. ข้อสังเกต

7.1 การจัดตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วมน่าจะสามารถกระทำได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้ง JBC (ฝ่ายไทย) โดยระบุให้อำนาจหน้าที่ของ JBC (ฝ่ายไทย) รวมถึง การจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานตามความจำเป็น ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายไทย ประธาน JBC ฝ่ายไทยเห็นควรเสนอให้อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ

7.2 หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 กระทรวงการต่างประเทศได้รับการประสานเป็นการภายในจากสำนักงานจังหวัดตาก ในช่วงวันเดียวกันว่า ฝ่ายพม่าได้เชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัดตากไปประชุมเพื่อจัดระเบียบชายแดนในวันต่อไป และพม่าจะเปิดด่านแม่สอดภายใน 2 — 3 วัน แต่ได้รับทราบว่า จนถึงขณะนี้ (วันที่ 18 สิงหาคม 2553) พม่ายังมิได้เปิดด่านแม่สอด

8. ตามนัยผลการประชุมหารือดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วมไทย — พม่า (ฝ่ายไทย) เพื่อพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับแม่น้ำที่เป็นเขตแดนระหว่างไทย — พม่าตลอดแนวแล้ว โดยมีองค์ประกอบและหากฝ่ายพม่าพิจารณาแล้ว ไม่มีข้อสังเกตเพิ่มเติม ก็จะเสนอให้ประธาน JBC (ฝ่ายไทย) ลงนามในร่างคำสั่งฉบับนี้ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ