ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ที่กรุงฮานอย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. การประชุม ฯ แบ่งเป็น 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) ความคืบหน้าและแนวทางในอนาคตของความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น และ (2) ประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมี นายฝ่าม ซา เคียม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และนายคัทสึยะ โอคาดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม และมีนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา นายญาณ วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า และนายอาลุนแก้ว กิตติคุน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมด้วย

2. ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการปฏิบัติตามเอกสารผลการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 และแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยญี่ปุ่นยืนยันการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง และได้มีข้อเสนอเรื่อง “หนึ่งทศวรรษสู่แม่โขงเขียวขจี” (A Decade toward the Green Mekong) ซึ่งเป็นผลจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 โดยเน้นประเด็นด้านการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขง อาทิ ความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ ความถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางน้ำและอากาศในพื้นที่เมือง และการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อความมั่นคงของมนุษย์ โดยเสนอให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งญี่ปุ่นพร้อมจะให้ความช่วยเหลือต่อประเทศ ลุ่มน้ำโขงทางด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่นความช่วยเหลือในการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) และ ความช่วยเหลือทางการเงินจากภาคเอกชนญี่ปุ่น เป็นวงเงินจำนวน 500,000 ล้านเยน (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2553 — 2555

3. ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ให้ในภูมิภาคและเป็น co-donor กับญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงสถานะล่าสุดในการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย อาทิ การสร้างถนนจากจังหวัดกาญจนบุรีถึงชายแดนพม่าเพื่อเชื่อมต่อไปท่าเรือทวาย การซ่อมแซมและยกระดับถนนจากอำเภอแม่สอด (จังหวัดตาก) ถึงกอกะแร็ก การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย—สปป.ลาว แห่งที่ 3 และ 4 และการสร้างเส้นทางรถไฟต่อจากท่านาแล้ง ถึงเวียงจันทน์ ซึ่งสะท้อนฐานะประเทศผู้ให้ของไทยในภูมิภาค และได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาสร้างเส้นทางรถไฟต่อจากเวียงจันทน์ถึงเวียดนาม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งที่ประชุมด้วยว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นได้ร่วมกับคณะจากหน่วยราชการไทยสำรวจพื้นที่ EWEC ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และท่าเรือทวาย ในเดือนกันยายน 2553 และไทยกับญี่ปุ่นจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ Mekong-Japan International Conference on the East-West Economic Corridor (EWEC) and the Southern Economic Corridor (SEC) ที่กรุงเทพฯ ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชิญญี่ปุ่น มาเป็นผู้ให้ร่วมทางวิชาการแบบไตรภาคี (Trilateral Cooperation) กับไทย และใช้ประโยชน์จากสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เช่น หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ลุ่มน้ำโขง (MI) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) และเสนอให้เพิ่มสาขาความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการควบคุมหมอกควันข้ามแดน การจัดการของเสีย การอนุรักษ์ป่าไม้ นิเวศวิทยาในเมือง และความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำให้คำนึงถึงกรอบความร่วมมือในภูมิภาคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ยุทธศาสตร์ความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง และกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มสหรัฐฯ-ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (US-Lower Mekong Initiative: US-LMI) เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนของโครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ และเพื่อประโยชน์สูงสุดต่ออนุภูมิภาค

4. ประเทศลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ (สปป.ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา) แสดงความยินดีกับความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 63 ข้อ (เอกสารผลการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1) โดยขอบคุณที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเสริมกับการเชื่อมโยงทางคมนาคมในอาเซียน (ASEAN Connectivity) และด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และหวังว่า ญี่ปุ่นจะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices) และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศลุ่มน้ำโขง

5. ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับประเด็นข้อห่วงกังวลในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีหัวข้อสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในพม่า และการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการยืนยันการสนับสนุนของประเทศลุ่มน้ำโขงต่อการเป็นสมาชิกถาวรของญี่ปุ่นในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

6. ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ของประธานเป็นเอกสารผลการประชุม ซึ่งสะท้อนถึงผลการประชุมที่ได้หารือถึงความคืบหน้าและแนวทางในอนาคตของความร่วมมือ Mekong-Japan เพื่อสันติสุข การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองในลุ่มน้ำโขงและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยรวม

อนึ่ง ในการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันว่า ไทยจะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ และยินดีที่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ รวมทั้งยินดีที่สหรัฐฯ ก็สนใจที่จะมีบทบาทด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นการสร้างดุลยภาพเพื่อคานกับจีนที่มีอิทธิพลสูงมากในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง อีกทั้งได้เสนอให้ญี่ปุ่นพิจารณาส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ร่วมมือกับภาคเอกชนไทย ในการสำรวจและตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ในบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลาว และกัมพูชา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ