รายงานผลความคืบหน้าตามผลการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ตามผลการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2552 และเห็นชอบแนวทางและนโยบายการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องการขอใช้สินเชื่อ เพื่อการส่งออกจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนกระทรวงคมนาคมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า

1. กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน เพื่อเสนอแนะการกำหนดแนวทางในการขยายความร่วมมือ และติดตามความคืบหน้าด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และได้นำผลการหารือทวิภาคีกับจีนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมได้พิจารณาว่า ปัจจุบันสภาพหัวรถจักรที่ใช้งานมีอายุการใช้งานเกินกว่า 25 ปี จำนวนถึง 151 หัวรถจักร และ รฟท. มีโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนรถจักร GE เดิม (อายุประมาณ 45 ปี) จำนวน 50 คัน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการเดินรถ จึงควรพิจารณากำหนดโครงการดังกล่าว เพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นลำดับแรก และเร่งดำเนินการปรับปรุงทางสายประธานในเส้นทางสายเหนือ ช่วงพิษณุโลก — เชียงใหม่ และสายใต้ ช่วงทุ่งสง — หาดใหญ่ ทั้งนี้ โดยเห็นควรกำหนดโครงการเพื่อใช้เงินจำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 3 โครงการ รวมประมาณ 13,671 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอรายงานผลการพิจารณาการกำหนดโครงการด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากจีนสำหรับการจัดหารถจักร และการปรับปรุงระบบรางสายประธานดังกล่าวดังนี้

(1) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ เพื่อทดแทนรถจักร GE ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 45 ปี จำนวน 50 คัน มูลค่าโครงการประมาณ 6,562.25 ล้านบาท หรือประมาณ 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(2) โครงการปรับปรุงระบบรางสายประธาน (ราง หมอน ประแจ สะพาน และคอนกรีตอัดแรงที่ทางจัดผ่านเสมอระดับ) ช่วงพิษณุโลก — เชียงใหม่ มูลค่าโครงการประมาณ 4,428 ล้านบาท หรือประมาณ 132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(3) โครงการปรับปรุงระบบรางสายประธาน (ราง หมอน ประแจ สะพาน และคอนกรีตอัดแรงที่ทางจัดผ่านเสมอระดับ) ช่วงทุ่งสง — ชุมทางหาดใหญ่ มูลค่าโครงการประมาณ 2,680.8 ล้านบาท หรือประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. การประชุมคณะทำงานเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 1

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้คณะทำงานเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน เข้าร่วมประชุมคณะทำงานเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการรถไฟ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายจีน สรุปผลการประชุมได้ คือ

2.1 รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญในการสร้างทางรถไฟ และมีนโยบายการก่อสร้างและพัฒนารถไฟทั่วประเทศ กระทรวงการรถไฟได้ดำเนินงานด้านคมนาคมและการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง โดยปัจจุบันสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจำนวน 1,400 ล้านคนต่อปี และขนส่งสินค้าได้ 340 ล้านตันต่อปี

2.2 ฝ่ายไทยได้แจ้งผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 และขอรับการสนับสนุนด้านเทคนิคเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถไฟจากผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงการรถไฟจีนศึกษาข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายจีนยินดีให้การการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว

2.3 ฝ่ายจีนได้สอบถามเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากจีน จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางของไทย พร้อมทั้งเสนอให้ความช่วยเหลือในการพิจารณารายละเอียดโครงการในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว

2.4 ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันและการเยือนในระดับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลร่วมกันต่อไป

3. ความคืบหน้าการเจรจาสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Preferential Export Buyer’s Credits)

กระทรวงคมนาคมได้ติดตามความคืบหน้าเรื่องการเจรจาสินเชื่อเพื่อการส่งออก โดยคณะทำงานเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน ได้จัดให้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการต่างประเทศ และ รฟท. ร่วมประชุมหารือในเรื่องความคืบหน้าการเจรจาสินเชื่อเพื่อการส่งออก ซึ่งผู้แทน สบน. ได้ชี้แจงที่ประชุมทราบความเป็นมา สถานะการเจรจาในปัจจุบัน ข้อสังเกต และผลการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยกับแหล่งเงินกู้อื่น ดังนี้

3.1 ฝ่ายจีนเสนอการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกแก่รัฐบาลไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนได้นำส่งรายละเอียดข้อเสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

(1) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอให้ Preferential Export Buyer’s Credits แก่ รัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำหนดเป็นกรอบในความตกลงทั่วไป (General Agreement) โดยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนเป็นผู้ให้กู้ (Lender) กระทรวงการคลังของประเทศไทยเป็นผู้กู้ (Borrower) โดยมีกรอบวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(2) ขั้นตอนการใช้เงินกู้จะพิจารณาเป็นรายโครงการ (Project) สำหรับโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ กระทรวงการคลังจะเสนอขอใช้เงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าว ต่อธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน และลงนามสัญญาเงินกู้รายโครงการ (Individual Loan Agreement) ร่วมกันหลังจากโครงการได้รับการอนุมัติ

(3) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเงินกู้ 15 ปี ระยะปลอดหนี้ 5 ปี และมีค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Commitment Fee) ร้อยละ 0.5 ต่อปีของวงเงินที่ไม่ได้เบิกจ่าย และค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) ร้อยละ 0.5 ต่อปีของวงเงินกู้ โดยการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจะต้องจ่ายคืนเป็นเงินเหรียญสหรัฐปีละ 2 ครั้ง

3.2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 เห็นชอบและอนุมัติร่างกรอบความตกลงทั่วไประหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังพิจารณาอย่างรอบคอบในหลายประเด็นกระทรวงการคลัง (สบน.) จึงได้หารือและชี้แจงกับผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนตามความเห็นของ อส. ดังนี้

(1) ร่างกรอบความตกลงทั่วไปกำหนดให้ใช้กฎหมายจีนบังคับแก่ความตกลงฉบับนี้ และกำหนดให้สถาบันอนุญาโตตุลาการของจีนเป็นผู้วินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยเสนอให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นเพื่อความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

(2) ร่างกรอบความตกลงทั่วไปกำหนดให้สัญญาใดๆ ที่รัฐบาลไทยทำกับบุคคลที่สาม รวมถึง Paris Club ไม่มีผลผูกพันต่อกรอบความตกลงทั่วไปดังกล่าว ฝ่ายไทยเกรงว่า หากลงนามไปแล้วอาจมีผลกระทบต่อการที่รัฐบาลไทยได้ทำสัญญากับบุคคลที่สาม

(3) ร่างกรอบความตกลงทั่วไป กำหนดให้ผู้กู้จะต้องใช้เงินกู้ดังกล่าว ในการซื้อสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Portion) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ฝ่ายไทยเกรงว่า ประเทศจะเสียประโยชน์หากมีข้อจำกัดในการซื้อสินค้า

(4) ส่วนประเด็นที่ร่างกรอบความตกลงทั่วไปกำหนดให้กระทรวงการคลังสละสิทธิ์ความคุ้มกันในทรัพย์สินและกำหนดให้กระทรวงการคลังอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีได้ ซึ่งฝ่ายไทยเห็นควรขอตัดข้อความ ดังกล่าว เนื่องจากตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรัพย์สินของรัฐไม่อาจตกอยู่ใต้การบังคับคดี

3.3 สถานะการเจรจาในปัจจุบัน : สบน.ได้มีหนังสือถึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน เพื่อขอแก้ไขร่างกรอบความตกลงทั่วไป (General Loan Agreement) 3 ครั้ง ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนได้มีหนังสือตอบประเด็นการแก้ไขร่างกรอบความตกลงทั่วไป สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การใช้เงินกู้ในการซื้อสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 นั้น เป็นเงื่อนไขทั่วไปซึ่งใช้กับทุกประเทศ ซึ่งให้คิดจากมูลค่าสัญญาของโครงการ โดยสัดส่วนดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับลักษณะของโครงการ

(2) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในร่างกรอบความตกลงทั่วไปที่ระบุให้ใช้กฎหมายจีน ซึ่ง สบน. แจ้งยืนยันที่จะใช้กฎหมายประเทศที่ 3 เพื่อความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขอสังเกตไว้ และยังไม่ได้คำตอบจากธนาคารฯ

(3) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนยินดีที่จะให้สถาบันอนุญาโตตุลาการของประเทศที่เป็นกลางเป็นผู้วินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยจะเจรจาร่วมกันในรายละเอียดต่อไป

(4) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนเสนอแก้ไขจากเดิมที่กำหนดให้กระทรวงการคลังสละสิทธิ์ความคุ้มกันในทรัพย์สิน และกำหนดให้กระทรวงการคลังอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยธนาคารฯ เสนอให้ยกเว้นกรณีที่สินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์เพื่อการทหารและการทูต สบน. พิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินของรัฐทุกประเภทไม่อาจตกอยู่ใต้การบังคับคดี จึงแจ้งยืนยันที่จะขอยกเว้นหรือตัดเงื่อนไขดังกล่าวออก

3.4 ข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง

(1) กระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนได้หารือแนวทาง การแก้ไขร่างความตกลงทั่วไปและได้ประสานงานมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งหากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขในประเด็นต่างๆ ที่กระทรวงการคลังได้เสนอไป ก็จะสามารถเร่งรัดสรุปการหารือเรื่องกรอบความตกลงทั่วไปได้

(2) ข้อกำหนดในการซื้อสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนภายในประเทศภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

(3) ก่อนการลงนามในกรอบความตกลงทั่วไป กระทรวงการคลังจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยได้รับความเห็นชอบให้ลงนามในความตกลงจากรัฐสภา

3.5 ผลการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยกับแหล่งเงินกู้อื่น

                 แหล่งเงินกู้                                       อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ร้อยละ)

(ภายหลัง SWAP เป็นเงินบาท)

                1. ธนาคารโลก (World Bank)                                5.05
                2. ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)                           3.74
                3. องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)              3.61
                4. พันธบัตรไทย อายุ 10 ปี                                    4.08
                5. พันธบัตรไทย อายุ 15 ปี                                    4.31
                6. Preferential Export Buyer’s Credits                   5.08

ที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าแหล่งเงินกู้อื่น และเงื่อนไขข้อผูกมัดที่ยังไม่สามารถเจรจาได้ จะทำให้โครงการมีความล่าช้า จึงเห็นควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ